งานวิจัยขิงสุดยอดสมุนไพร ดื่มแล้วดีต่อสุขภาพองค์รวมอย่างไร ?
หน้าแรกประโยชน์ของขิงงานวิจัยขิงสุดยอดสมุนไพร ดื่มแล้วดีต่อสุขภาพองค์รวมอย่างไร ?
ขิงเป็นสุดยอดสมุนไพร...ที่ถูกนํามาใช้เป็นส่วนประกอบของเมนูอาหารต่าง ๆ มากมาย รวมไปถึงในเครื่องดื่มและในตำรับยาแผนโบราณหรือในการแพทย์ทางเลือกทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศแถบเอเชียที่มีการนำประโยชน์ของขิงมาใช้ในทางการแพทย์เป็นเวลาหลายร้อยปี
ขิงมีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Zingiber officinale Roscoe เป็นพืชสมุนไพรที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ที่ใช้ส่วนเหง้าของขิงกินแก้คลื่นไส้อาเจียน แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ขับผายลม เจริญอากาศธาตุ ฯลฯ ตามหลักการแพทย์แผนไทย เพราะขิงเป็นสมุนไพรไทยที่มีรสร้อน มีกลิ่นฉุน เนื่องจากขิงมีสารสำคัญหลัก คือ จินเจอร์รอล gingerol, โชกาออย shogaols, diarylheptanoids, ซิงจิเบอรีน zingiberene, โอลีโอเรซิน (oleoresin), เสสควิเทอปีน (sesquitrepene), ไบซาโบลี (bisabolene) ฯลฯ ล้วนเป็นองค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันหอมระเหยในขิงที่ทำให้ขิงมีคุณประโยชน์มากมายในการช่วยย่อยอาหาร ขับเสมหะ เสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย [25] อีกทั้งความเผ็ดร้อนของขิงทำให้ช่วยขับเหงื่อออกมา ช่วยปรับสมดุลของอุณหภูมิในร่างกาย ทำให้รู้สึกกระชุ่มกระชวย ช่วยบรรเทาและป้องกันไข้หวัดได้ [สำหรับพืชที่มีน้ำมันหอมระเหยนั้นอยู่ในวงศ์พืชต่าง ๆ ไม่เกิน 60 วงศ์ ที่สำคัญ เช่น Zingiberaceae (ขิง), Labiatae (มินต์), Rutaceae (ส้ม), Gramineae (ตะไคร้)] [10]
ข้อมูลพืชสมุนไพรของขิงจาก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้กล่าวถึงประโยชน์ทางยาของขิงหรือเหง้าแก่สด เป็นยาแก้อาเจียน ยาขมเจริญอาหาร ขับลม ยาแก้ท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ไอ ขับเสมหะ บำรุงธาตุ ช่วยต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ลดอาการจุกเสียดได้ดี มีฤทธิ์ในการขับน้ำดี เพื่อย่อยอาหาร แก้ปากคอเปื่อย แก้ท้องผูก ลดความดันโลหิต [17]
ปัจจุบันนี้มีผลงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ของขิงมากมายที่ยืนยันได้ว่า ขิงเป็นสุดยอดสมุนไพร โดยจะยกตัวอย่างบางงานวิจัย ที่สรุปได้ว่า ขิง กินแล้วดีต่อสุขภาพองค์รวม
งานวิจัยขิงมีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่หากใครมีโภชนาการที่ดีก็จะมีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง ตอกย้ำชัดเจนว่า การมีสุขภาพองค์รวมที่ดีได้ ต้องเลือกกินอาหารให้เป็นยา อย่ารอให้ต้องกินยาแทนอาหาร [14]
คุณค่าทางโภชนาการของขิง ในขิง 100 กรัม ให้พลังงานแก่ร่างกาย 25 กิโลแคลอรี และให้
โปรตีน 0.4 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 4.4 กรัม, ไขมัน 0.6 กรัม, เส้นใยอาหาร 0.8 กรัม, เหล็ก 1.2 มิลลิกรัม
แคลเซียม 18 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 22 มิลลิกรัม, เบต้าแคโรทีน 10 ไมโครกรัม, วิตามินซี 1 มิลลิกรัม,
ไธอะมีน 0.02 มิลลิกรัม, ไนอะซีน 1 มิลลิกรัม, ไลโบฟลาวิน 0.02 มิลลิกรัม และอื่น ๆ เช่น วิตามินเอ วิตามินบี1, วิตามินบี2, วิตามินบี3
และการกินขิงที่มีสารจินเจอร์รอล (Gingerol) ก็เปรียบเสมือนกับการกินอาหารให้เป็นยา มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและมีส่วนช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน รวมไปถึงมีผลการศึกษาจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล เปรียบเทียบประสิทธิผลของขิงที่มีส่วนช่วยยับยั้งโควิท-19
งานวิจัยของมหาวิทยาลัยโดย Kanjanasirirat, P., Suksatu, A., Manopwisedjaroen, S. et al เรื่อง High-content screening of Thai medicinal plants reveals Boesenbergia rotunda extract and its component Panduratin A as anti-SARS-CoV-2 agents เผยแพร่ใน Scientific Reports ปี 2020 ระบุว่า ขิง เป็นสุดยอดสมุนไพรอีกชนิดที่มีประสิทธิผลในการยับยั้งโควิด-19 ได้ โดยเมื่อเปรียบเทียบกับสารสกัดรวมของสมุนไพรฟ้าทะลายโจรในห้องปฏิบัติการ สารสกัดรวมจากขิงสามารถยับยั้ง (IC50) SARS-CoV-2 โดยใช้ความเข้มข้นเพียง 29.19 ไมโครกรัม/mL ในขณะที่ต้องใช้สมุนไพรฟ้าทะลายโจร 68.06 ไมโครกรัม/mL [11] [12]
อีกทั้งมีการดื่มน้ำขิงมากขึ้นในช่วงที่มีจำนวนผู้ป่วยโรคไวรัสโควิด-19 มากขึ้น โดยมีข้อมูลการดื่มน้ำขิงเพื่อป้องกันหรือบรรเทาอาการในผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะตามโรงพยาบาล ศูนย์พักคอย ก็จะมีน้ำขิงไว้ให้ผู้ป่วยโควิด-19 ชงดื่มในทุกวัน โดยเฟซบุ๊กกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขิง เป็นอีกหนึ่งสมุนไพรไทยที่มีส่วนช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย” และในศูนย์ข้อมูลยาสมุนไพรฯ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก บอกว่าขิงอยู่ในกลุ่มผักผลไม้ที่มีงานวิจัยเบื้องต้นว่ามีสารสำคัญที่อาจช่วยลดโอกาสการติดเชื้อโควิด-19 และอยู่ในกลุ่มพืชผักสมุนไพรที่มีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน [13]
ไม่อยากขิงจริง ๆ นะ เพราะจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้มีหลายประเทศ ทำการศึกษางานวิจัยสมุนไพรเพื่อการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 และขิงก็เป็นหนึ่งในสมุนไพรที่ถูกนำมาศึกษาในงานวิจัยเพิ่มเติม เนื่องจากมีงานวิจัยที่ผ่านมาในระดับหลอดทดลอง พบว่าสารสำคัญในขิงมีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคปากอักเสบพุพอง และยังมีส่วนช่วยลดความรุนแรงจากการอักเสบของปอดและภาวะการขาดออกซิเจน
ในงานวิจัยเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 ของขิงในระดับหลอดทดลองยังพบว่าสารสำคัญในขิงมีแนวโน้มที่จะสามารถต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ และอาจมีการพัฒนา ขิง ให้เป็นยาต้านไวรัสโควิด-19 ได้ในอนาคต และมีงานวิจัยในคน (ทดลองกับคน) ของประเทศอิหร่าน พบว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และมีระดับอาการไอ หอบเหนื่อย ปวดกล้ามเนื้อ จะมีอาการที่บรรเทาลดลงเมื่อกินขิงร่วมกับยาสมุนไพรชนิดอื่น ๆ แต่ผลของอาการอื่น ๆ และระยะเวลาการรักษาในโรงพยาบาลยังไม่แน่ชัด อาจจะไม่ใช่ผลจากขิงเพียงอย่างเดียว จึงต้องมีการศึกษางานวิจัยเพิ่มเติมต่อไป เนื่องจากยังมีหลักฐานงานวิจัยสนับสนุนถึงคุณค่าของขิงไม่เพียงพอ แต่ก็ยังแนะนำให้บริโภคขิงตามภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทย คือ รับประทานน้ำขิงหรือกินขิงในรูปแบบของการปรุงเป็นอาหารที่แสนอร่อยต่อไป [16]
งานวิจัยขิงมีส่วนช่วยป้องกันไข้หวัดได้
ขิง สมุนไพรไทยที่โลกรู้จัก เป็นสมุนไพรหลักที่กระทรวงสาธารณสุข ประกาศอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2552 ว่าสามารถป้องกัน “โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ชนิดเอ (H1N1) ได้ โดยมีการออกฤทธิ์ทางยาไม่แพ้ยารักษาหวัด 2009 [1] เพราะขิงมีรสร้อนและมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ [2] มีงานวิจัยที่พบว่า ขิงแก่ เมื่อนำมาต้มน้ำเดือดนาน 30 นาที มีส่วนทำให้เม็ดเลือดขาวชนิดแมคโครฟาสจับไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ การบริโภคขิงหรือดื่มน้ำขิงร้อน ๆ จะช่วยลดการสะสมของเชื้อไวรัสได้ดี
จากผลงานวิจัยพบว่าสารสำคัญในขิงที่ได้จากการสกัดขิง มีส่วนช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งสารจินเจอร์รอล [5] ในขิงยังมีฤทธิ์มากพอที่จะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อต่าง ๆ ของร่างกายได้ โดยเฉพาะหากเราบริโภคขิงเป็นประจำ สารจินเจอร์รอลของขิงจะต่อสู้กับเชื้อไวรัสโรคหวัดและบรรเทาอาการไข้ได้ ส่งผลให้เรามีสุขภาพองค์รวมที่ดี ห่างไกลจากโรคหวัดอีกด้วย [6] และอีกหนึ่งสารสำคัญในขิงคือ โชเกล (shogaol) ยังช่วยบรรเทาอาการไอ ตำรับยาที่มีขิงเป็นส่วนประกอบ หรือขิงในรูปแบบของเครื่องดื่มร้อนจะมีฤทธิ์แก้ไอและบรรเทาอาการหวัดได้ [7] น้ำหอมระเหยของขิงยังช่วยให้รู้สึกโล่ง หายใจสะดวกมากขึ้นในช่วงที่เป็นหวัดคัดจมูก และยังมีข้อมูลเพิ่มเติมจาก “ขิง สมุนไพรเพื่อการบำบัด” หนึ่งในหนังสือชุดอาหารและสุขภาพ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สมิต ให้ความรู้ที่น่าสนใจเอาไว้ที่หน้าที่ 63 ว่า “ขิงมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์ต่อการทำหน้าที่ของร่างกายในการต่อต้านโรคหวัด โรคไข้หวัดใหญ่ โรคติดเชื้อไวรัส โรคไอ โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ตลอดจนโรคติดเชื้อที่ไม่รุนแรงทุกชนิด” และที่ หน้าที่ 64 “วงการแพทย์แผนปัจจุบันที่เพียบพร้อมไปด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือในงานวิจัยที่ทันสมัย ยังยอมรับว่าขิงเป็นสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณดีเยี่ยมในการบรรเทารักษาอาการไอและรักษาโรคหวัด” [8]
งานวิจัยขิงเป็นหนึ่งในสมุนไพรแก้ไอ
โดยในสาธารณสุขมูลฐานได้กำหนดรายการสมุนไพรไทยที่ใช้เป็นยาบรรเทาอาการไอ ตามบัญชียาจากสมุนไพร พ.ศ. 2555 นั้น ได้ระบุตำรับยาสมุนไพรบรรเทาอาการไอไว้ทั้งสิ้น 7 ตำรับ ได้แก่ ยาแก้ไอผสมกานพลู ยาแก้ไอผสมมะขามป้อม ยาแก้ไอผสมมะนาวดอง ยาแก้ไอพื้นบ้านอีสาน ยาตรีผลา ยาประสะมะแว้ง และ ยาอำมฤควาที โดยสมุนไพรไทยในตำรับดังกล่าวนั้น อาจแบ่งได้เป็นสมุนไพรที่มีกรดผลไม้ที่มีฤทธิ์ในการเพิ่มการหลั่งน้ำลาย ช่วยบรรเทาอาการไอ เคลือบเยื่อบุทางเดินหายใจ ลดอาการระคายเคือง เช่น ผลบ๊วย ผลมะนาวดอง ผลมะขามป้อม สมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหย เช่น ดอกกานพลู เปลือกอบเชย ผิวส้มจีน เหง้าขมิ้นอ้อย ต้นกะเพราแดง ดอกดีปลี เหง้าขิง ผลพริกไทยล่อน ต้นช้าพลู โกฐพุงปลา เทียนขาว ลูกผักชีลาว และสมุนไพรกลุ่มอื่น ๆ เช่น รากชะเอมเทศ รากชะเอมไทย ใบเสนียด ผลมะแว้งต้น ผลมะแว้งเครือ [3] สำหรับยาแก้ไอขับเสมหะมีดังนี้ มะแว้งต้น มะนาว มะขาม มะขามป้อม เพกา ดีปลี และ ขิง [2]
งานวิจัยขิงจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พบว่าเหง้าขิงมีรสหวานเผ็ดร้อน แก้หอบไอ ขับเสมหะ ขับลม แก้ท้องอืด จุกเสียด แน่นเฟ้อ คลื่นไส้อาเจียน แก้บิด เจริญอากาศธาตุสารสำคัญในน้ำมันหอมระเหยของขิงออกฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ หรือสามารถใช้เหง้าขิงแก่ทุบหรือบดเป็นผง ชงน้ำขิงดื่ม แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน แก้จุกเสียด แน่นเฟ้อ เหง้าขิงสด ต้มคั้นเอาแต่น้ำผสมกับน้ำมะนาว เติมเกลือเล็กน้อย จิบแก้ไอ ขับเสมหะ [9]
งานวิจัยขิงบรรเทาอาการคลื่นไส้แก้อาเจียนในหญิงตั้งครรภ์
อาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์นั้น เป็นอาการที่เรียกว่าแพ้ท้อง พบได้บ่อยมากในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์และจะหายไปเอง แต่ก็มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้หญิงตั้งครรภ์ ซึ่งสาเหตุและกลไกของอาการคลื่นไส้อาเจียนในหญิงตั้งครรภ์นั้นมีหลายทฤษฎี แต่ในปัจจุบันเชื่อว่าเกิดจากหลายปัจจัย เช่น การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน (hormonal stimulus) ชื่อว่า Human Chorionic Gonadotrophin(HCG )การปรับตัวของหญิงตั้งครรภ์ (evolutionary adaptation) ปัจจัยด้านจิตใจ (psychologic predisposition)
ขิง สมุนไพรไทยที่ดีต่อสุขภาพองค์รวม ทางเลือกสำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์และกำลังมองหาตัวช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียน เพราะสารสำคัญในขิง เช่น จินเจอร์รอล (gingerol), shogaol และ diarylheptanoids นั้นส่งผลดีต่อสุขภาพองค์รวม มีส่วนช่วยต้านการอาเจียน นอกจากนี้ยังมีสารสำคัญในน้ำมันหอมระเหย เช่น menthol, cineole ที่มีส่วนช่วยลดอาการจุกเสียดได้ จากงานวิจัยที่มีผลทางคลินิกพบว่าเหง้าขิงแก่สามารถลดอาการคลื่นไส้อาเจียนในหญิงตั้งครรภ์ และในผู้ที่มีอาการเมารถ เมาเรือ และในผู้ป่วยที่เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียนหลังจากการผ่าตัดได้อีกด้วย [9] [15]
งานวิจัยขิงบรรเทาอาการไมเกรน
การกินขิงมีส่วนช่วยบรรเทาอาการอาการปวดหัวไมเกรนได้ มีผลงานวิจัยที่พบว่า การบริโภคขิงในช่วงที่มีอาการปวดหัวไมเกรนกำเริบ มีส่วนช่วยให้อาการปวดหัวไมเกรนลดลง เพราะสารสำคัญในขิง มีส่วนช่วยยับยั้งฮอร์โมนที่เกี่ยวกับอาการอักเสบได้
เนื่องจากไมเกรนเป็นโรคที่ก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะเรื้อรังชนิดหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ซึ่งอาการไมเกรนจะเป็นอาการปวดศีรษะที่มักจะเริ่มจากปวดศีรษะข้างเดียวก่อน แล้วจึงจะปวดศีรษะทั้งสองข้าง แต่รู้หรือไม่ว่า มีงานวิจัยขิงในต่างประเทศพบว่าการกินน้ำขิง หรือกินอาหารที่มีขิงเป็นส่วนผสมหลัก มีส่วนช่วยบรรเทาอาการปวดไมเกรนได้ถึง 60% ซึ่งผลการศึกจากงานวิจัยขิงที่พบเหตุและผลของขิงที่ช่วยลดอาการปวดไมเกรนได้นั้น มาจากสารสำคัญในขิงที่มีฤทธิ์ในการลดกระบวนการอักเสบ ลดอาการปวดในร่างกาย ลดการสร้างสารพรอสตาแกลนดิน (prostiglandins) ที่ทำให้เกิดอาการปวดและอักเสบ อีกทั้งสรรพคุณของขิงที่มีส่วนช่วยแก้อาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนหัว ซึ่งมักเป็นอาการนำก่อนที่จะมีอาการปวดไมเกรนอยู่แล้ว จึงถือได้ว่าขิงเป็นอีกหนึ่งสมุนไพรทางเลือกสำหรับผู้ป่วยโรคไมเกรน และหากใครชอบดื่มน้ำขิงอยู่แล้ว ยิ่งมีสิทธิ์ห่างไกลจากการเป็นโรคไมเกรนได้เช่นกัน [9] [18] [19] [20]
งานวิจัยขิงบรรเทาอาการไขข้ออักเสบ โรคข้อเข่าเสื่อม
อาการปวดในโรคข้อเข่าเสื่อม สามารถอธิบายกลไกของการปวดตามทฤษฎีให้เข้าใจง่าย ๆ ได้ว่า เมื่อเกิดการเสื่อมของกระดูกอ่อนไขข้อและมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะของข้อเข่า ส่งผลให้ก่อเกิดการบาดเจ็บหรือการอักเสบของเนื้อเยื่อรอบข้อเข่า มีการหลั่งสารกระตุ้นที่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด เช่น แบรดีไคนิน ฮีสตามีน พรอสตาแกลนดิน เป็นต้น ซึ่งสารเหล่านี้จะไปกระตุ้นตัวรับความเจ็บปวดนั่นเอง โดยอาการปวดในโรคข้อเข่าเสื่อมจะค่อย ๆ เป็นทีละน้อย โดยเริ่มมีอาการปวดเมื่อยเวลาใช้งานข้อเข่า บางครั้งมีเสียงกรอบแกรบเวลาเคลื่อนไหว มีอาการข้อตึงหรือข้อติดเวลาใช้งานนาน ๆ และเมื่อเป็นมากจนกระดูกผิวข้อสึกจะทำให้มีอาการปวดมากขึ้น และอาจพบว่าข้อเข่าผิดรูปได้ [23]
โรคข้อเข่าเสื่อม จะพบว่าเป็นอาการแบบเรื้อรัง มีความปวดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปและคงอยู่ตลอดไป ส่งผลให้ระดับความทนทานต่ออาการปวดลงลด และจะไปมีผลกระทบโดยตรงต่อระบบลิมบิคที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการกระตุ้นและการนำพาให้เกิดความเครียดทั้งทางด้านร่างกาย เช่น รบกวนการนอนการพักผ่อน รบกวนการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน และทางด้านจิตใจ เช่น เกิดความเครียด อารมณ์หงุดหงิด ไม่อยากมีความกระตือรือร้น มีความวิตกกังวล แต่อาการเหล่านี้จะหายไปเมื่อไม่มีอาการปวด
ปัจจุบัน โรคข้อเข่าเสื่อม ไม่ต้องแก่ ก็เป็นได้ และเริ่มพบมากขึ้นในกลุ่มคนวัยทำงาน เนื่องมาจากหลายปัจจัย เช่น ความอ้วน มีน้ำหนักตัวมาก, มีปัญหาที่กล้ามเนื้อแฮมสตริง, มีปัญหาที่กล้ามเนื้อควอดไดรเซพส์, การงอกของกระดูกใหม่, เซลล์กระดูกอ่อนถูกทำลาย, ข้อเข่าได้รับแรงกระทบมาก ๆ ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับไขข้อต่าง ๆ อาทิ รูมาตอย เกาต์ เป็นต้น [22]
จากการทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่ผ่านมา พบว่าผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม มีการนำภูมิปัญญาพื้นบ้านมาใช้ในการบำบัดอาการปวดข้อเข่าเสื่อม โดยการนำสมุนไพร (ที่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานหมายถึง พืชที่ใช้ทำเครื่องยา) มาใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดของโรคข้อเข่าเสื่อม และขิง สมุนไพรไทยก็มีส่วนช่วยในการรักษาและบรรเทาอาการไขข้ออักเสบได้ด้วยเช่นกัน มีการค้นพบว่า ผู้ที่มีอาการโรคข้อเข่าเสื่อม หรือเป็นโรครูมาตอยด์ อาการจะลดลงเมื่อบริโภคขิงเป็นประจำทุกวัน
อีกทั้งยังมีงานวิจัยที่มีผลการศึกษาทางคลินิกเกี่ยวกับการบรรเทาอาการอักเสบ โดยเป็นงานวิจัยในผู้ป่วยข้อเสื่อมบริเวณเข่าที่มีความปวดระดับปานกลางถึงรุนแรง 261 ราย โดยกลุ่มหนึ่งจะได้รับสารสกัดจากขิง ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งจะได้รับยาหลอกวันละ 2 ครั้ง พบว่ากลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากขิง มีอาการปวดลดลง หรือบรรเทาอาการปวดได้ดีกว่ายาหลอก เรียกได้ว่าสารสกัดจากขิงสามารถบรรเทาอาการปวดได้ในระดับปานกลาง มีความปลอดภัยสูง และยังพบงานวิจัยที่ศึกษาฤทธิ์ของขิงในการลดอาการปวดข้อ เป็นงานวิจัยในผู้ป่วยที่เป็นโรคไขข้ออักเสบ 28 คน โรคข้อเสื่อม 18 คน และกลุ่มที่มีอาการทางกล้ามเนื้อ 10 คน โดยให้กินขิงผงในหลาย ๆ ขนาด เป็นระยะเวลาตั้งแต่ 3 เดือนถึง 2.5 ปี พบว่า 75% ของผู้ป่วยโรคข้อ มีอาการปวดและบวมลดลง และในผู้ป่วยที่มีอาการทางกล้ามเนื้อนั้น ทั้งหมดหายปวด ซึ่งกลไกในการลดอาการปวดได้นั้น เนื่องมาจากเกิดการยับยั้งการสร้างพรอสตาแกลนดิน และ ลิวโคไตรอีน เมื่อให้ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบ จำนวน 7 คน กินขิงขนาด 5 กรัมต่อวัน นาน 3 เดือน พบว่าอาการอักเสบ ปวดบวม และข้อขัดของผู้ป่วยลดลง และเมื่อดูงานวิจัยเปรียบเทียบกับยาอื่น ๆ พบว่างานวิจัยของขิงในผู้ป่วยโรคข้อเสื่อม จำนวน 120 คน เปรียบเทียบกับยาไอบูโพรเฟนและยาหลอก พบว่าผู้ป่วยกลุ่มที่รับสารสกัดจากขิง ขนาด 30 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวัน และกลุ่มที่ได้รับยาไอบูโพรเฟน ขนาด 400 มิลลิกรัม 3 ครั้งต่อวัน นาน 1 เดือน จะมีอาการปวดบวมและอักเสบที่ข้อลดลงกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก ซึ่งขิงและยาไอบูโพรเฟนให้ผลในการรักษาไม่แตกต่างกัน [24]
ขิง กินแล้วดี คุณประโยชน์และสรรพคุณของขิง ดีจริงจนต้องบอกต่อและแนะนำให้คนที่เรารักเราห่วงใยให้กินขิง เพราะขิงตอบโจทย์การดูแลสุขภาพองค์รวมได้ดีในทุกวัย
ที่มา:
[1] Thai Pharmacies Association บทความพิเศษ ถาม – ตอบ ? หน้า 38 วารสารยา สมัยที่ 14 ปีที่ 29 ฉบับที่ 6 พฤศจิกายน – ธันวาคม 2552
[2] กรมสุขภาพจิต บทความด้านสุขภาพจิต
[3] บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน สมุนไพรแก้ไอ / คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
[4] สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. บัญชียาจากสมุนไพร ใน บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2555. นนทบุรี: กระทรวงสาธารณสุข; 2555.
[5] วารสารวิจัยและพัฒนา มจธ. ปีที่ 37 ฉบับที่3 กรกฎาคม – กันยายน 2557 หน้าที่ 297 – 312 องค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระของน้ำมันหอมระเหยขิง
[6] หมอชาวบ้าน / บทความสุขภาพน่ารู้ / ขิง: ยาดีที่โลกรู้จัก
[7] ขิง - คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
[8] ขิง สมุนไพรเพื่อการบำบัด / ศักดิ์ บวร / สำนักพิมพ์สมิต / หนังสือชุดอาหารและสุขภาพ / พิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม 2542
[9] ขิง - คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
[10] พืชให้น้ำมันหอมระเหย ข้อมูลจาก ฝ่ายเภสัชศาสตร์และผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
[11] งานวิจัย ม.มหิดล เปรียบเทียบประสิทธิผล “ขิง” ยับยั้งโควิท19 / โดย Biothai Team 16 สิงหาคม 2021
[12] ลิงค์งานวิจัย ม.มหิดล เปรียบเทียบประสิทธิผล “ขิง” ยับยั้งโควิท19
[13] ผลไม้กลุ่มที่มีงานวิจัยเบื้องต้นว่ามีสารสำคัญที่อาจช่วยลดโอกาสการติดเชื้อ COVID-19
[14] อาหารเป็นยา
[15] ขิงบรรเทาอาการแพ้ท้อง
[16] ขิงกับ COVID-19 / สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ /คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
[17] ข้อมูลพืชสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
[18] ขิงมีประโยชน์อะไร ไอเดียการกินการใช้เพื่อสุขภาพ
[19] รู้หรือไม่? ขิงช่วยบรรเทาอาการปวดไมเกรนได้ / โรงพยาบาลวิชัยยุทธ
[20] ไมเกรน แก้ได้ไม่ยากด้วยวิธีธรรมชาติบำบัด
[21] 6 สมุนไพรแก้ปวดข้อ ปวดกระดูก ช่วยบรรเทาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้!! / กรมกิจการผู้สูงอายุ
[22] ประสาทสรีรวิทยาของความเจ็บปวด อาการปวดในผู้สูงอายุโรคข้อเข่าเสื่อม
[23] บรรเทาอาการเข่าเสื่อมด้วยการพอกยาสมุนไพร / มหาวิทยาลัยมหิดล
[24] วารสารยา Thai Pharmacies Association สมัยที่ 21 ปีที่ 44 ฉบับ 249 มีนาคม 2566 หน้า 35-36 บทความพิเศษ สมุรไพรขิง
[25] องค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระของน้ำมันหอมระเหยขิง / งานวิจัยขิง วารสารวิจัยและพัฒนา มจธ. ปีที่ 37 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม – กันยายม 2557
บทความอื่น ๆ ที่คุณอาจสนใจ