งานวิจัย ลดอาการปวดประจำเดือน น้ำขิงช่วยได้

หน้าแรกประโยชน์ของขิงงานวิจัย ลดอาการปวดประจำเดือน น้ำขิงช่วยได้


สำหรับผู้หญิงแล้ว ช่วงมีประจำเดือนถือเป็นช่วงเวลาที่ผ่านไปได้อย่างยากเย็น เพราะไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนที่จะสามารถจัดการกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านฮอร์โมนในช่วงมีประจำเดือนได้ โดยเฉพาะอาการที่เกิดในช่วงมีประจำเดือนอย่าง อาการ ปวดประจำเดือน ที่รบกวนชีวิตในแต่ละวันของสาว ๆ เป็นอย่างมาก อาการปวดประจำเดือน เป็นประสบการณ์ที่สาว ๆ คนไหนก็ไม่อยากเจอ เพราะอาการปวดประจำเดือน นี้เปรียบเสมือนฝันร้ายของสาว ๆ เลยก็ว่าได้ ในช่วงมีประจำเดือน บางคนที่ปวดมาก ๆ อาจถึงขั้นต้องไปหาหมอกันเลยก็มี หรือถ้าหากไม่ปวดมากนัก ก็ยังต้องรับประทานยาแก้ปวดอยู่ดี แต่ถ้าจะให้กินยาแก้ปวดทุกครั้งที่มีอาการปวดประจำเดือนก็อาจจะส่งผลไม่ดีต่อร่างกายในอนาคตแน่ๆ ก่อนที่จะไปหาวิธีการแก้ปัญหา เกี่ยวกับอาการปวดประจำเดือนนั่น อยากให้ทุกคนได้รู้ถึงสาเหตุและปัจจัยที่แท้จริง ของอาการปวดประจำเดือนก่อน ว่าเกิดขึ้นจากอะไร เพราะเมื่อเข้าใจปัจจัยต่างๆแล้ว จะได้ดูแลตัวเองได้อย่างถูกวิธี

มีงานวิจัยเกี่ยวกับอาการปวดประจำเดือน ไว้หลายงานวิจัย ว่าอาการปวดประจำเดือนเกิดขึ้นเพราะอะไร? มีอะไรผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกายหรือเปล่า? หรือเกิดจากปัจจัยอะไรได้บ้าง? เมื่อรู้แล้วจะได้ดูแลร่างกายให้ห่างไกลจากอาการปวดประจำเดือนได้
 

งานวิจัยเกี่ยวกับ อาการปวดประจำเดือนในผู้หญิง
จากงานวิจัยของแชพเวอร์ (Shaver, 1987) (ประมวล วีรุตมเสน, 2532)  (ชวนชม สกนธวัฒน์, 2535; Willson & Ledger, 1983) พบว่าการมีประจำเดือนมากสัมพันธ์กับการเพิ่มของพรอสตาแกลนดิน [1] ในเยื่อบุโพรงมดลูกที่มากขึ้น เมื่อพรอสตาแกลนดินมากขึ้นจะซึมกระจายไปสู่กล้ามเนื้อข้างเคียง เป็นสารที่กระตุ้นทางเคมี (chemical stimuli) กระตุ้นให้เกิดการหดรัดตัวของหลอดเลือดอย่างรุนแรง ทำให้เกิดภาวะเนื้อเยื่อของมดลูกขาดเลือด และขาดออกซิเจน ส่งผลให้ระบบประสาทรับความรู้สึกส่งต่อความเจ็บปวดไปยังศูนย์ควบคุม ประตูในไขสันหลังบริเวณ (substantia gelatinosa : SG cell) [2] เมื่อใยประสาทขนาดเล็กถูกกระตุ้นมากกว่าใยประสาทขนาดใหญ่ ความสามารถในการขัดขวางการทำงานของ (transmission cell: T cell) [2]  น้อยจึงเกิดการส่งต่อสัญญาณประสาททำให้ สมองรับรู้ความรู้สึกเจ็บปวด และเป็นสาเหตุของความเจ็บปวด ในภาวะปวดประจำเดือน 

งานวิจัย (Yiikorkala & Dawood, 1978) [3]  กล่าวว่าอาการปวดประจำเดือน ทุเลาลงได้เองโดยไม่ต้องรับการรักษา จะทุเลาไปได้เองเมื่ออายุมากขึ้น และพบว่าอาการปวดประจำเดือนจะมีอาการทุเลาลงได้หลังจากการคลอดบุตร แต่อาจจะดีขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น 

งานวิจัย (Wentz.1999) กล่าวว่าเนื่องจากการตั้งครรภ์ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการไหลเวียนของเลือด ในมดลูกเพิ่มขึ้น และการยืดตัวของกล้ามเนื้อมดลูกทำให้มีการทำลายประสาทเอดรีเนอจิก (adrenergic nerves) ซึ่งภายหลังคลอดบุตรจะมีการสร้างเส้นประสาทใหม่ เพียงบางส่วนเท่านั้น มีผลให้การรับความเจ็บปวดลดลง รวมถึงอาการปวดประจำเดือนด้วย
 

กลไกการเกิดประจำเดือน (Menstrual cycle)
โดยปกติผู้หญิงเริ่มมีประจำเดือนเมื่ออายุประมาณ 12 – 15 ปี ต่อเนื่องไปจน 45 – 50 ปี การเกิดรอบประจำเดือน เกิดจากการทํางานร่วมกันของอวัยวะต่างๆ คือ สมองส่วนไฮโปทาลามัส ต่อมใต้สมอง รังไข่ ผนังชั้นในมดลูก ที่มีการเปลี่ยนแปลงในชั้น Functional layer ตามรอบประจำเดือน โดยทั่วไป 1 รอบประจำเดือนใช้เวลาเฉลี่ย 28 วัน แบ่งเป็น 4 ระยะ ดังนี้
  1. Menstrual phase (ช่วงที่มีประจำเดือน) ช่วงวันที่ 1 – 5 ของการมีประจำเดือน เกิดจากไข่ไม่ได้รับการปฏิสนธิ และไม่ได้ฝังตัวลงไปที่ผนังมดลูก ทำให้ผนังมดลูกลอกออกมา เป็นเลือดประจำเดือนนั่นเอง ซึ่งระยะเวลาของประจำเดือน ของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป บางคนอาจมีประจำเดือนแค่ 2 วัน หรือบางคนอาจมีนานถึง 7 วันเลยก็ได้ ส่วนมากแล้ว 2 วันแรกจะเป็นช่วงเวลาหฤโหดที่สุดของประจำเดือน ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน [5] จะลดลง ทั้งนี้จะมีอาการปวดท้องประจำเดือน รู้สึกเหนื่อยอ่อน ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากขยับตัว ร่วมด้วย
  2. Follicular phase (หลังมีประจำเดือน) ช่วงวันที่ 5-14 หลังมีประจำเดือน ร่างกายจะเริ่มเตรียมความพร้อมรอการปฏิสนธิรอบต่อไปอีกครั้ง รังไข่จะเริ่มผลิตไข่ และผนังมดลูกจะเริ่มหนาขึ้นอีกครั้ง ประมาณ 0.5-5 มิลลิเมตร เพื่อรองรับตัวอ่อน ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน และเทสโทสเตอโรน [5] จะเพิ่มขึ้น ช่วงหลังหมดประจำเดือนนี้ พลังงานจะเยอะเป็นพิเศษ จะรู้สึกกระปรี้กระเปร่า อารมณ์ดี ผิวพรรณดูผุดผ่องและเปล่งปลั่งขึ้น
  3. Ovulation phase (ช่วงเวลาไข่ตก) ช่วงวันที่ 14-25 คือช่วงเวลาไข่ตก เป็นช่วงที่ผู้วางแผนจะตั้งครรภ์รอคอย เมื่อไข่ตกแล้วก็จะเริ่มเดินทางไปที่มดลูกเพื่อรอการปฏิสนธิของสเปิร์ม และไปฝังตัวต่อที่ผนังมดลูก โดยสามารถสังเกตได้ว่าอยู่ในช่วงเวลาไข่ตกหรือเปล่าได้โดย ดูจากอุณหภูมิร่างกายที่จะสูงขึ้นเล็กน้อย และจะมีตกขาวลักษณะใสๆ เหมือนไข่ขาวเกิดขึ้น ระดับฮอร์โมนช่วงนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  จะมีอารมณ์รุนแรงขึ้น รวมถึงรู้สึกเหนื่อยและอ่อนเพลีย
  4. Luteal phase (ก่อนเริ่มมีประจำเดือนอีกครั้ง) ช่วงวันที่ 25-28 ช่วงนี้จะเป็นช่วงสุดท้ายของรอบเดือน กระบวนการเตรียมร่างกายกลับไปจุดเริ่มต้นของการมีประจำเดือนอีกครั้ง ในช่วงนี้หากไข่และสเปิร์มมีการปฏิสนธิกันเกิดขึ้น ไข่จะฝังตัวลงไปที่ผนังมดลูกและกระบวนการตั้งครรภ์จะเริ่มต้นขึ้น แต่ถ้าไข่และสเปิร์มไม่มีการปฏิสนธิกัน และไม่ได้ฝังตัวลงไปที่ผนังมดลูก ฮอร์โมนจะเริ่มเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เพื่อเตรียมให้ผนังมดลูกหลุดลอกและวนกลับไปเริ่มนับ 1 คือเริ่มต้นมีประจำเดือนอีกครั้ง [5] ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง โปรเจสเตอโรนและเทสโทสเตอโรนเพิ่มขึ้น ช่วงนี้ผิวหนังของเราจะผลิตน้ำมันออกมามากขึ้น ทำให้เกิดสิวมากกว่าปกติ รวมถึงอาจมีอาการของกลุ่ม PMS [6] ต่างๆ เช่น ตัวบวม คัดแน่นหน้าอก อารมณ์แปรปรวน ความต้องการทางเพศเปลี่ยนแปลง เป็นต้น

ชนิดของการปวดประจำเดือน แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ [7

การปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ (primary, congenital, intrinsic, essential or idiopathic dysmenorchea) ซึ่งเป็นการปวดประจำเดือนที่ไม่พบพยาธิสภาพของอวัยวะสืบพันธุ์ภายใน มักเป็นในปีแรก ๆ ของการมีประจำเดือน จะพบในเด็กสาวส่วนมากจะเริ่มมีอาการตั้งแต่ประจำเดือนครั้งแรก หรือไม่จะเกิดขึ้นภายใน 3 ปีหลังมีประจำเดือนครั้งแรก จะมีอาการมากที่สุดในช่วงอายุ 15-25 ปี หลังจากนี้อาการจะค่อยๆ ลดลงบางรายอาจหายปวดหลังแต่งงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังมีบุตรแล้วจะมีส่วนน้อยที่ยังอาจมีอาการตลอดไปจนถึงวัยหมดประจำเดือน อาการปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ จะไม่มีความผิดปรกติของมดลูกและรังไข่ ปัจจุบันนี้เชื่อว่า มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างมีประจำเดือน และมีการหลั่งสารพรอสตาแกลนดิน (prostaglandin) มากผิดปรกติทำให้มดลูกมีการบีบเกร็งตัวเกิดอาการปวดที่บริเวณท้องน้อย

การปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมิ (secondary, extrinsic, acquired or organic dysmenorrhea) เป็นการปวดประจำเดือนที่มีพยาธิสภาพของอวัยวะสืบพันธ์ ในอุ้งเชิงกราน และพบร่วมกับโรคทางนรีเวชอย่างอื่นร่วมด้วย อาการปวดครั้งแรกเมื่อมีอายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไปโดยก่อนหน้านี้อาจจะไม่เคยมีอาการปวดประจำเดือนเลย อาการปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมิ มักมีความผิดปรกติของมดลูกหรือรังไข่ เช่น เยื่อบุมดลูกงอกผิดที่ (endometriosis) เนื้องอกมดลูก (myoma uteri) เป็นต้น"

ซึ่งปกติแล้วอาการปวดประจำเดือนที่ผู้หญิงส่วนมากเจอในทุกเดือน คือการปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ (Widholm & Kentero as cited in El-minawi & Howard, 2000) มีการศึกษางานวิจัยรูปแบบการมีประจำเดือนของเด็กผู้หญิงและมารดาชาวฟินแลนด์ พบว่าส่วนใหญ่เริ่มมีการปวดประจำเดือนหลังมีประจำเดือน ครั้งแรก 6-12 เดือน และส่วนใหญ่เกิดกับสตรีที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี โดยทั่วไปพบร้อยละ 30-50 ของสตรีกลุ่มนี้ไม่เคยตั้งครรภ์มาก่อน การปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิอาการจะปวดมากบริเวณท้องน้อย อาจร้าวไปบริเวณหลังหรือต้นขา แต่ไม่ต่ำถึงเข่า คล้ายอาการเจ็บครรภ์ ปวดมากในวันแรกของการมีประจำเดือน อาการปวดจะเริ่มก่อนหรือหลังมีประจำเดือน 1-2 ชั่วโมง ระยะการปวดระหว่าง 48-72 ชั่วโมง บางรายมีอาการร่วมอย่างอื่นในระบบทางเดินอาหารและระบบหลอดเลือด เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ร้อยละ 89 ถ่ายเหลว ร้อยละ 60 ปวดศีรษะ ร้อยละ 45 เวียนศีรษะ ร้อยละ 60 อ่อนเพลียร้อยละ 85 ปวดหลังร้อยละ 60 และหงุดหงิดร้อยละ 67

นอกจากนี้อาการปวดประจำเดือนยังอาจเกิดขึ้นจากปัญหาเกี่ยวกับอวัยวะสืบพันธุ์อื่น ๆ คืออาการปวดประจำเดือน ชนิดทุติยภูมิ (secondary, extrinsic, acquired or organic dysmenorrhea) เช่น
  • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ภาวะนี้จะทำให้ปวดท้องประจำเดือนมาก โดยจะมีอาการติดต่อกันนานกว่า 6 เดือน ซึ่งอาจส่งผลกระทบทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้ด้วย
  • ถุงน้ำในรังไข่ (Polycystic Ovary Syndrome) เป็นความผิดปกติของระดับฮอร์โมนทำให้เกิดถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ ผู้ป่วยจะมีประจำเดือนที่ผิดปกติ เช่น ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนมานานกว่าปกติ เป็นต้น
  • เนื้องอกมดลูก เป็นเนื้องอกที่เกิดขึ้นในกล้ามเนื้อของมดลูก ซึ่งมักจะพบได้บ่อยในผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป โดยเนื้องอกที่ว่านี้จะมีขนาดเล็กมากไปจนถึงมีขนาดใหญ่เท่าลูกแตงโม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ หรือทำให้มีลูกยากได้ อาการที่แสดงออกมาในบางรายอาจปวดท้องประจำเดือนอย่างรุนแรง หรือประจำเดือนมามาก และมาเป็นเวลานานผิดปกติ
  • อุ้งเชิงกรานอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบอวัยวะสืบพันธุ์ โดยอาการหลักจะเป็นการปวดที่อุ้งเชิงกราน และยังส่งผลให้ผู้ป่วยปวดประจำเดือน ตกขาวมีกลิ่นเหม็นคาวด้วย
  • ปากมดลูกตีบ ทำให้ขัดขวางการไหลของเลือดประจำเดือน และเกิดแรงดันภายในมดลูกมาก ก่อให้เกิดอาการปวดประจำเดือน และประจำเดือนมาไม่ปกติ

อาการปวดประจำเดือนเป็นอาการที่ผู้ป่วยมาขอรับคำปรึกษาที่แผนกสูตินารีมากที่สุด สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการที่มีเลือดคั่งค้างมากผิดปกติในอุ้งเชิงกราน (Pelvic Congestion Syndrome) หรือการที่มดลูกหดตัว เพื่อดันให้ประจำเดือนออกไปข้างนอก ทุกคนคงเคยพยายามแก้ไข อาการปวดประจำเดือน อย่างไรก็ตามหากมีอาการปวดมาก ก็ไม่ควรฝืนและควรขอรับคำปรึกษาจากแผนกสูตินารี หรือหากไม่อยากทานยาลดอาการปวดตลอดเวลา เพราะกลัวมีผลกับร่างกายในระยะยาว ก็สามารถหาน้ำขิงมาดื่มเพื่อลดอาการปวดกระจำเดือนได้ด้วย
 


งานวิจัยเกี่ยวกับการดื่มน้ำขิง ช่วยลดอาการปวดประจำเดือน ได้จริงหรือไม่ ?
การศึกษาวิจัยหนึ่ง (Kashefi, et al, 2015) ทำการทดลองในวัยรุ่นผู้หญิงที่มีปัญหาประจำเดือนมามาก อายุระหว่าง 15-18 ปี จำนวน 90 คน โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มที่ได้รับแคปซูลผงเหง้าขิง ขนาด 250 มก. วันละสามครั้ง รับประทานติดต่อกัน 4 วัน เริ่มจากวันก่อนที่จะมีประจำเดือนจนถึงวันที่สามของการมีประจำเดือน เปรียบเทียบผลกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ทำการวัดผลในช่วง 3 รอบประจำเดือน โดยการประเมินด้วย Pictorial blood loss assessment chart ผลการทดสอบพบว่ากลุ่มที่ได้รับขิง จะมีการสูญเสียเลือดประจำเดือนลดลง และมีผลข้างเคียงน้อย ค่าการลดลงของการสูญเสียเลือดประจำเดือนเมื่อได้รับแคปซูลเหง้าขิง และยาหลอกคิดเป็น 46.6% และ 2.1% ตามลำดับ สรุปว่าขิงมีประสิทธิภาพในการช่วยลดการสูญเสียเลือดประจำเดือนในผู้หญิงที่มีปัญหาประจำเดือนมามากได้ 

งานวิจัยชิ้นหนึ่งบ่งชี้ว่าการรับประทานขิงอาจช่วยบรรเทาอาการปวดเช่นเดียวกันกับการรับประทานยาบรรเทาอาการปวด เช่น ยาไอบูโพรเฟน มากไปกว่านั้นยังมีงานวิจัยอีกหนึ่งชิ้นที่ทำการทดลองในแง่ ความรุนแรงของการมีประจำเดือนสามารถควบคุมได้โดยการรับประทานขิง ในการทดลองทางคลินิกนี้โพสต์ใน (Phytotherapy Research 2015) โดยศึกษาในกลุ่มผู้หญิง 92 คนที่ต้องเผชิญกับภาวะเลือดประจำเดือนออกมาก จะได้รับอาหารเสริมขิงเป็นระยะ ๆ เป็นเวลา 3 รอบประจำเดือน สรุปผลวิจัยได้ว่า ผู้หญิงที่รับประทานอาหารเสริมขิงนั้น ช่วยบรรเทาภาวะเลือดประจำเดือนออกมากได้ดีขึ้นกว่าผู้ที่ได้รับยา

ยังมีงานวิจัยอีกหนึ่งชิ้นยังชี้ ให้เห็นว่าขิงอาจมีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือน เช่น การทดลองในนักศึกษามหาวิทยาลัย 120 คน โดยให้รับประทานผงเหง้าขิงครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้งในช่วง 2 วันก่อนเริ่มมีประจำเดือนต่อเนื่องไปจนถึง 3 วันแรกของการมีประจำเดือน รวมทั้งหมดเป็น 5 วัน พบว่าผงเหง้าขิงมีส่วนช่วยลดความรุนแรงของอาการปวดประจำเดือนได้อย่างมีนัยสำคัญ ด้านการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของขิงและยาลดอาการปวดประจำเดือนอย่างเมเฟนามิค (Mefenamic acid) หรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) 400 มิลลิกรัม ในอาสาสมัคร 150 คน โดยแบ่งกลุ่มรับประทานแคปซูลขิงหรือยาแต่ละชนิดในปริมาณ 250 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง นาน 3 วัน โดยเริ่มตั้งแต่มีประจำเดือน ผลลัพธ์ปรากฏไปในทิศทางเดียวกันกับงานวิจัยแรก คือ ขิงมีประสิทธิภาพบรรเทาความรุนแรงของอาการปวดประจำเดือนไม่แตกต่างกับการใช้ยาเมเฟนามิคหรือไอบูโพรเฟน

นพรัตน์ พุทธกาลและคณะผู้วิจัยชาวไทย (Buddhakala, Talubmook, Sriyotha, Wray, and Kupittayanant, 2008) เชื่อว่าขิงสามารถลดอาการปวดประจําเดือนได้ เนื่องจากมีฤทธิ์ขยายกล้ามเนื้อ เรียบของมดลูก พบว่าน้ำมันขิงยับยั้งการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบมดลูกของหนูขาว ในงานวิจัยเดียวกันนี้ผู้วิจัยพบว่า citral เป็นสารออกฤทธิ์ในขิงที่ทําให้เกิดการคลายตัวของ กล้ามเนื้อมดลูกอีกด้วย

จากงานวิจัยข้างต้นที่กล่าวมา สรุปได้ว่าการดื่มน้ำขิงถือเป็นวิธีธรรมชาติที่ดีในการบรรเทาและจัดการกับอาการปวดประจำเดือน และอาการข้างเคียงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงมีประจำเดือน เช่น คลื่นไส้ ปวดท้อง ปวดศีรษะ และอ่อนเพลีย ได้ดีอีกด้วย
 

ทำไมถึงควรดื่มน้ำขิง เพื่อลดอาการปวดประจำเดือน
ในขิงนั้นมีน้ำมันหอมระเหยที่มีสารสำคัญอย่าง จินเจอร์รอล (Gingerol) ซิงเจอโรน (Zingerone) โชกาออล (shogaol) และอื่น ๆ อยู่ในปริมาณมาก โดยการสกัดน้ำมันหอมระเหยดังกล่าวจะมีคุณภาพดีที่สุดเมื่อสกัดในขิงแก่สดอายุ 11-12 เดือน สำหรับน้ำมันหอมระเหยสกัดที่มีสารประกอบสำคัญอย่าง “จินเจอร์รอล” นั้นถือเป็นหัวใจสำคัญของขิงในการใช้เพื่อจุดประสงค์ทางการแพทย์ เนื่องจากจินเจอร์รอลมีส่วนช่วยในการต้านอาการอักเสบ ส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน บรรเทาอาการปวด คลายเส้นประสาท ลดไข้และมีคุณสมบัติในการต่อต้านจุลชีพหรือแบคทีเรีย

และการดื่มน้ำขิงยังช่วยบรรเทาอาการอ่อนเพลียจากกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS; Premenstrual syndrome) ที่ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติได้ ที่สำคัญการดื่มน้ำขิงสามารถบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเอนไซม์ซินจิเบน (Zingibain) ในขิงช่วยปกป้องร่างกายของผู้หญิงจากการอักเสบ โดยการยับยั้งการผลิตสารโพรสตาแกลนดินที่ส่งผลให้ผนังมดลูกบีบตัวจนเกิดเป็นอาการปวดประจำเดือน นั่นเอง
 

6 วิธีดูแลตัวเองง่าย ๆ เมื่อปวดท้องประจำเดือน
  1. ดื่มน้ำขิงอุ่น ๆ เพราะน้ำขิงช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้ น้ำขิงมีส่วนช่วยลดการหลั่งสาร Prostaglandins ซึ่งเป็นสารที่ทำให้มดลูกบีบตัวทำให้เกิดการปวดประจำเดือน ทานน้ำขิงเพียง 1-2 แก้วต่อวัน จะช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้ และยังลดอาการท้องอืด ทำให้ระบบไหลเวียนของเลือดประจำเดือนดีขึ้น และยังช่วยลดอาการเหนื่อยและอ่อนเพลียช่วงมีประจำเดือนด้วย หากยังไม่เคยดื่มน้ำขิงมาก่อน อาจจะคิดว่าดื่มยาก ลองเริ่มต้นดื่ม น้ำขิง ฮอทต้า จินเจอร์ สูตรขิงต้นตำรับผสมน้ำผึ้ง หรือ ฮอทต้า จินเจอร์ สูตรต้นตำรับผสมหญ้าหวานสกัด 2 สูตรนี้อร่อยเพราะจะมีรสหวานขึ้นเล็กน้อย ทำให้ดื่มง่ายขึ้น แต่ยังดีต่อสุขภาพ
  2. ประคบร้อน เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อที่ตึง มีการผ่อนคลาย ลองประคบกระเป๋าน้ำร้อนครั้งละ 3-5 นาที แล้วจะรู้สึกว่าอาการปวดท้องประจำเดือนดีขึ้น วิธีนี้ มีการวิจัยว่า สามารถลดอาการปวดได้ดีพอๆกับการกินยาแก้ปวด หรือจะลองนวัตกรรมใหม่แผ่นแปะร้อนบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ก็มีขายตามท้องตลาดมากมาย
  3. นวดบริเวณท้องน้อย เป็นวิธีที่ช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณท้องได้ผ่อนคลายลง สามารถทำได้โดยการนวดวนเป็นวงกลมบริเวณท้องน้อย
  4. ออกกำลังกาย ผู้หญิงทุกคนสามารถออกกำลังกายได้ขณะมีประจำเดือน เช่น การเดินเร็ว หรือ เล่นโยคะในท่าง่าย ๆ ซึ่งการออกกำลังกายจะช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้ดี
  5. ผ่อนคลายด้วยกลิ่นหอม กลิ่นหอม ๆ นอกจากจะช่วยผ่อนคลายความเครียดแล้ว ก็ยังช่วยบรรเทาอาการปวดด้วย โดยเฉพาะกลิ่นของลาเวนเดอร์ คาโมไมล์ มะกรูด หรือกลิ่นของตะไคร้ จะสามารถช่วยให้คลายความรู้สึกปวด และผ่อนคลายมากขึ้นได้ ดังนั้นถ้าอยากลดปัญหาปวดประจำเดือนลองหาน้ำมันหอมระเหย นำมาไว้ข้างหัวเตียง และดื่มน้ำขิงหอมๆอุ่น ๆ ร่วมด้วยจะช่วยให้อาการดีขึ้น
  6. เปลี่ยนท่านั่ง ท่านอนให้ผ่อนคลายขึ้น ผ่อนคลายร่างกายด้วยการนั่งยืดตัวเพื่อให้กระดูกเชิงกรานตั้งตรง แล้วหันเท้าออกด้านข้าง ท่านี้จะช่วยลดอาการปวดประจำเดือนลงได้ นอกจากนี้ หากในเวลากลางคืนเกิดปวดประจำเดือนจนนอนไม่หลับก็ลองนอนหันข้างแล้วงอเข่า และหลัง ก็จะทำให้รู้สึกสบายขึ้น

4 ท่านอน ลดอาการปวดท้องประจำเดือน [8
ท่านอนที่ถูกต้อง จะช่วยยืดกล้ามเนื้อบริเวณท้องน้อยไม่ให้รู้สึกตึง ลดอาการปวดประจำเดือนได้ เป็นเรื่องที่ผู้หญิงหลายๆคนไม่รู้ แต่ควรรู้เอาไว้ เวลาปวดประจำเดือน ลองนอนตาม 4 ท่า ดังนี้
  1. ท่านอนทารก หรือ ท่าขดตัว เป็นท่านอนที่คล้ายกับท่าของทารกในครรภ์ท่านี้จะช่วยลดอาการปวดท้องประจำเดือน เพราะทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องและรอบท้องคลายตัว เพราะยิ่งหน้าท้องตึงน้อยเท่าไหร่ อาการปวดก็จะยิ่งน้อยลงเท่านั้น 
  2. ท่านอนเด็กหมอบ เป็นท่านอนที่คล้ายกับท่านอนทารก แต่จะต่างกันนิดหน่อยที่ลำตัวจะพับไปข้างหน้า งอเข่าไว้ข้างใต้ของลำตัวและหนุนศีรษะบนหมอน ท่านี้จะช่วยลดอาการปวดท้องประจำเดือน เพราะทำให้กล้ามเนื้อหลังส่วนล่างได้ผ่อนคลาย ท่านี้ยังเป็นท่าโยคะท่าหนึ่งอีกด้วย และเด็กน้อยบางคนอยู่ท่านี้แล้วนอนหลับได้นานขึ้นด้วย 
  3. ท่านอนหงาย เป็นท่านอนธรรมดา ๆ ที่ช่วยลดอาการปวดท้องประจำเดือนได้เพราะท่านี้ทำให้เกิดแรงกดที่มดลูก น้อยที่สุด แต่ถ้าใครนอนท่านี้แล้วยังไม่สบายตัว ลองเอาหมอน หมอนข้าง หมอนกลม หรือผ้าขนหนูมาม้วน ๆ ให้กลม ๆ แล้วนำมาวางไว้ที่ใต้เข่าด้วยก็จะช่วยให้สบายตัวขึ้น
  4. ท่านอนตะแคง เป็นท่านอนที่จะช่วยทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องคลายตัวเหมือนท่าทารก และที่พิเศษไปกว่านั้น ยังช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น ทำให้ได้รับออกซิเจนมากขึ้น ช่วยเพิ่มคุณภาพของการนอนหลับอีกด้วย ท่านอนนี้จะนอนตะแคงโดยให้ขาท่อนล่างเหยียดตรง และขาท่อนบนงอเข้าหาท้อง จะมีหมอนรองระหว่างขาสองข้างหรือไม่มีก็ได้

ท่านอนที่ควรเลี่ยง เมื่อมีประจำเดือน
ช่วงที่เป็นประจำเดือน ไม่ควรนอนคว่ำหน้าเด็ดขาด เพราะเป็นท่านี้จะทำให้น้ำหนักตัวกดทับมดลูก ยิ่งทำให้อาการปวดท้องประจำเดือนหนักขึ้น ควรหลีกเลี่ยงเด็ดขาด 
 

อาการปวดประจำเดือนที่ควรพบแพทย์
ผู้ที่ปวดประจำเดือนอย่างรุนแรง โดยอาการดังกล่าวรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ควรพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการรักษา ทั้งนี้ ผู้ที่เกิดอาการต่อไปนี้ ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที โดยอาการดังกล่าว ได้แก่
  • เกิดอาการปวดท้องน้อยหลังใส่ห่วงคุมกำเนิด
  • ปวดบีบที่ท้องมาก โดยรู้สึกปวดนานกว่า 2-3 วัน รวมทั้งท้องร่วงและคลื่นไส้ร่วมด้วย
  • ปวดท้องน้อยเมื่อไม่ได้มีรอบเดือน
  • อาการปวดประจำเดือนแย่ลงอย่างรวดเร็ว หรือรู้สึกปวดท้องน้อยอย่างที่ไม่เคยเป็นเมื่อมีรอบเดือน
  • เลือดประจำเดือนไหลออกมามากกว่าปกติ โดยต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกชั่วโมง
  • มีเนื้อเยื่อปนออกมากับเลือดประจำเดือน โดยเนื้อเยื่อออกสีเทา
  • มีอาการปวดท้องน้อยอย่างรุนแรงในขณะที่ตั้งครรภ์

ทั้งนี้การรักษาภาวะปวดท้องประจำเดือนแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความรุนแรงของแต่ละบุคคล ในกรณีที่ตรวจดูแล้วไม่พบรอยโรคผิดปกติ แพทย์จะให้การรักษาด้วยการรับประทานยาแก้ปวด ถ้าตรวจพบเนื้องอกหรือซีสต์ขนาดไม่ใหญ่มาก ก็จะพิจารณาให้ฮอร์โมนเพื่อเป็นการป้องกันการกลับมาเป็นช้ำ ซึ่งขึ้นอยู่กับอาการ โดยแพทย์จะวินิจฉัย และรักษาตามความเหมาะสมกับแต่ละคน

แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ การดูแลตนเองให้ดี ผู้หญิงทุกคนควรได้รับการตรวจสุขภาพโรคเฉพาะด้านนรีเวชวิทยา (ตรวจภายใน) อย่างน้อยปีละครั้ง พร้อมทั้งคอยหมั่นสังเกตประจำเดือนของตัวเองว่ามาสม่ำเสมอหรือไม่ และที่สำคัญคือ ภาวะการปวดประจำเดือน ถ้ามีอาการปวดประจำเดือนมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ควรจะปรึกษาแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาต่อไป

ข้อมูลอ้างอิง
[1] โพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin)
[2] แนวคิดเกี่ยวกับความปวด
[3] Composition and preparation for treatment of dysmenorrhea and menstrual pain and use of a hormonal agent and a zinc salt for treatment of menstrual disorders
[4] Dysmenorrhea: ภาวะปวดประจำเดือน
[5] 8 ฮอร์โมนสำคัญของร่างกายที่ต้องทำความรู้จักและรับมือให้เป็น
[6] ความหมาย กลุ่มอาการ PMS (PREMENSTRUAL SYNDROME)
[7] การปวดประจำเดือน
[8
Sleep: What Are the Best Sleeping Positions?
กลับ
13/03/2566
10,943
บทความอื่น ๆ ที่คุณอาจสนใจ