15 สุดยอดสมุนไพรไทย เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยต้านโควิด-19

หน้าแรกเทรนด์15 สุดยอดสมุนไพรไทย เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยต้านโควิด-19


กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข แนะนำให้ประชาชนสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานสมุนไพรไทย

เพราะในช่วงที่โควิด-19 ระบาด สิ่งที่สำคัญคือทุกคนควรมีภูมิคุ้มกันร่างกายที่แข็งแรง ซึ่งนอกจากการออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ และนอนหลับพักผ่อนมาก ๆ แล้ว การบริโภคสมุนไพรไทยที่มีส่วนประกอบสำคัญทางเคมีที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรง เป็นสมุนไพรไทยที่อยู่ในตำรับอาหารไทย และ/หรือ มีการใช้งานที่อาจแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับชนิดของสมุนไพรไทยนั้น ๆ เช่น สมุนไพรไทยที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ สมุนไพรไทยที่มีวิตามินซีสูง สมุนไพรไทยที่อุดมไปด้วยสารจินเจอร์รอล เป็นต้น ล้วนมีส่วนช่วยสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายทั้งนั้น

ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในขณะนี้ การป้องกันตัวเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ รักษาระยะห่าง ร่วมกับการหมั่นออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนอย่างเพียงพอเพื่อการมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงก็เปรียบเสมือนมีความสบายใจที่มีเกราะป้องกันไวรัสอยู่รอบตัว แต่หากเรารับประทานอาหารที่มีพืชสมุนไพรเป็นส่วนประกอบก็ถือเป็นการช่วยสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรงแบบยกกำลังสองพร้อมสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ เพราะสมุนไพรไทยคู่ครัวไทยหลายชนิด อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ และเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ส่วนจะมีสมุนไพรไทยชนิดใดบ้างนั้น เรารวบรวมมาไว้ให้แล้วกับ 15 สุดยอด สมุนไพรไทยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันช่วยต้านโควิด-19
 

1. ขิง
ขิง สมุนไพรไทยคู่ครัวคนไทยมาช้านาน เป็นพืชสมุนไพรล้มลุก มีลำต้นใต้ดินเรียกว่า เหง้า หรือ แง่ง แตกเป็นกอขึ้นมาจากใต้ดิน ขิงถูกจัดให้เป็นทั้งเครื่องเทศ และเครื่องดื่ม สมุนไพร ที่เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง ขิงที่นิยมปลูกในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ

ขิงใหญ่หรือขิงหยวกหรือขิงขาว  เป็นขิงที่มีแง่งใหญ่ ข้อห่าง เนื้อละเอียด เสี้ยนน้อย รสไม่เผ็ดจัด ลอกปลอกเปลือกเห็นเนื้อสีเหลืองเรื่อ ๆ เหมาะสำหรับทำเป็นขิงดองหรือกินเป็นขิงอ่อน

ขิงเล็กหรือขิงเผ็ด บางพื้นที่เรียกขิงดำ เป็นขิงแง่งเล็ก สั้น ข้อถี่ เนื้อมีเสี้ยนมาก รสเผ็ด ลอกเปลือกออก เนื้อเป็นสีน้ำเงิน หรือน้ำเงินปนเขียว นิยมนำมาทำเป็นยาสมุนไพร ขิงแห้ง ขิงผง ต้มเป็นเครื่องดื่มน้ำขิง

แง่งขิงแก่สดจะมีปริมาณสารสำคัญจำพวก โอลีโอเรซิน (oleoresin) สูง ซึ่งเป็นสารที่ทำให้ขิงมีรสชาติเผ็ดร้อนและมีกลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหยมากกว่าขิงอ่อน ในกลุ่มสารโอลีโอเรซิน (oleoresin) ยังมีสาร Aromatic ketone, Zingerone, Shogaol และสามารถสกัดสารสำคัญจากขิงชื่อ HMP-33 ใช้เป็นยาแก้ปวดข้อได้อีกด้วย

และในน้ำมันหอมระเหยของขิงก็มีสารสำคัญหลายชนิด เช่น จินเจอร์รอล Gingerol, sesquitrepene, bisabolene, Zingiberene, Zingerol ที่ทำให้ขิงมีคุณสมบัติมากมายในการช่วยขับลม ช่วยย่อยอาหาร แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ คลื่นไส้ เมารถ เมาเรือ แก้อาเจียน แก้ไข้ ขับเสมหะ ความเผ็ดร้อนของขิงทำให้เหงื่อออกมาก ช่วยปรับอุณหภูมิในร่างกายทำให้รู้สึกกระชุ่มกระชวย

น้ำขิงร้อน ๆ มีส่วนช่วยแก้อาการหวัด ช่วยบรรเทาอาการหนาว ไข้ต่ำ ไม่ค่อยมีเหงื่อ ดื่มน้ำขิงมีส่วนช่วยให้จมูกโล่งดี อาการไม่สบายจะลดลง

ดื่มน้ำขิงทุกวัน มีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะช่วงโควิด19...ทำไมควรดื่มน้ำขิง
เพราะการมีโภชนาการที่ดีเชื่อมโยงกับภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงขึ้นเสมอ ตอกย้ำชัดเจนว่า เราควร “กินอาหารให้เป็นยา อย่ากินยาเป็นอาหาร” ซึ่งคนไทยต่างรู้จัก "ขิง" เป็นอย่างดี เพราะขิงมีสารจินเจอร์รอล (Gingerol) ที่มีส่วนช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน และเป็นหนึ่งในสมุนไพรไทยยอดฮิตที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการสูงและควรบริโภคทุกวัน  

จินเจอร์รอล (Gingerol) เป็นสารที่ให้กลิ่นและรสเผ็ดร้อนของขิงที่จัดอยู่ในกลุ่มฟินอลลิกดีโตน ส่วนคุณลักษณะของจินเจอร์รอลนั้น โดยปกติจะพบเป็นน้ำมันสีเหลืองที่มีกลิ่นฉุน ก็สามารถจับตัวเป็นผลึกแข็งที่มีการละลายต่ำ แต่สำหรับประโยชน์ของจินเจอร์รอลในปัจจุบัน มีการสกัดเอาจินเจอร์รอลจากเหง้าขิงมาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร ทางการแพทย์ และเภสัชกรรม โดยมีจินเจอร์รอลเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ให้กลิ่นรสและความเผ็ดร้อนที่เป็นเอกลักษณ์ และยังมีคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนั้นจึงมีการนำจินเจอร์รอลมาใช้เป็นสารแต่งกลิ่นในอาหารและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น เครื่องดื่มสมุนไพร เครื่องดื่มวิตามินC สบู่ แชมพู ยาสีฟัน รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมความงามอื่น ๆ เป็นต้น และยังมีการใช้สารจินเจอร์รอลมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและขึ้นทะเบียนเป็นยา (สารสกัดจากสมุนไพร) ต่าง ๆ มาวางจำหน่ายอีกมากมายโดยมีการระบุถึงประโยชน์ และสรรพคุณว่าใช้ลดการอักเสบ ป้องกันการอักเสบ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้อาเจียน ป้องกันโรคหัวใจ ป้องกันการติดเชื้อต่าง ๆ เป็นต้น [11]

สำหรับแหล่งที่มาของ จินเจอร์รอล นั้นจะพบได้ในพืชวงศ์ Zingiberac eae เช่น ขิง ขมิ้น ข่า และไพล เป็นต้น แต่พืชสมุนไพรที่อุดมไปด้วยสารจินเจอร์รอลที่มีการค้นพบว่ามีปริมาณสารจินเจอร์รอลมากที่สุดคือ ขิง โดยมีการศึกษาการเปลี่ยนแปลงปริมาณสารจินเจอร์รอลในขิงอ่อน ที่มีอายุเก็บเกี่ยว 4-5 เดือน และขิงแก่ที่มีอายุเก็บเกี่ยว 11-12 เดือน นำไปวิเคราะห์ปริมาณสารจินเจอร์รอล พบว่าขิงอ่อนมีปริมาณจินเจอร์รอลอยู่ในช่วง 0.65-0.88% ส่วนขิงแก่ มีปริมาณ จินเจอร์รอลอยู่ในช่วง 1.10-1.56% อีกทั้งเราสามารถถอดความหมายให้คลายความสงสัยอย่างง่าย ๆ ด้วยการลองแตกเป็นคำย่ออย่าง จินเจอร์ (Ginger) ซึ่งก็คือ “ขิง” และเมื่อเติม “ol” ให้เป็น Gingerol จึงเป็นคำที่บ่งบอกถึงส่วนประกอบสำคัญและเป็นรสชาติเฉพาะที่มีในขิงนั่นเอง [12]

แต่ด้วยรสชาติและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของขิง ทำให้มีหลายคนที่ไม่ใช่คอขิงแต่ก็อยากได้ประโยชน์ของขิง หันมาสนใจและทดลองดื่มน้ำขิง สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับตัวเองกันมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงโควิด19...มีการดื่มน้ำขิงมากขึ้น โดยมีข้อมูลการดื่มน้ำขิงเพื่อป้องกันหรือบรรเทาอาการในผู้ป่วยโควิด19 โดยเฉพาะตามโรงพยาบาล ศูนย์พักคอย ก็จะมีน้ำขิงไว้ให้ผู้ป่วยโควิดดื่มในทุกวัน โดยเฟซบุ๊กกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขิง เป็นอีกหนึ่งสมุนไพรไทยที่มีส่วนช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย”

“ขิง” ยังเป็นสมุนไพรหลักที่กระทรวงสาธารณสุข ประกาศอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2552 ว่าสามารถป้องกัน “โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ชนิดเอ (H1N1) ได้ และน้ำขิงยังทำให้รู้สึกโล่งและทำให้รู้สึกดี ที่เราได้เลือกเครื่องดื่มน้ำขิงที่มีประโยชน์ให้กับร่างกาย หรืออย่างน้อยก็สร้างกำลังใจที่ดีให้ตัวเองในช่วงเวลาเจ็บป่วยจากอาการของโรคนั่นเอง
 

“ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องมีเครื่องดื่มน้ำขิง เป็นเครื่องดื่มประจำวันของทุกคนในครอบครัว”

คนไทยมีความคุ้นเคยกับน้ำขิงอยู่แล้ว เพราะว่าน้ำขิงเป็นเครื่องดื่มที่คนไทยบริโภคมานาน แต่เมื่อพูดถึงน้ำขิง คนส่วนใหญ่จะนึกถึงภาพ ขิงต้ม ขิงผง ขิงชงน้ำร้อน ซึ่งมีการซื้อขิงสดจากร้านขายผักสดในตลาด หรือซูเปอร์มาร์เก็ตที่เชื่อถือได้มาต้มเป็นน้ำขิง หรือในกรณีเป็นขิงแห้ง ก็จะมีการซื้อทั้งเหง้าขิงหรือแง่งขิงจากร้านจำหน่ายเครื่องยาสมุนไพรที่มีจรรยาบรรณ การซื้อขิงแห้งทั้งเหง้าแง่งหรือทั้งหัว ก็เพื่อที่เราจะได้นำกลับบ้านแล้วบดเป็นขิงผงด้วยตัวเราเอง (ใช้เครื่องปั่นเมล็ดกาแฟหรือเครื่องบดอาหารแห้งก็ได้)

เครื่องดื่มขิงยอดนิยมในรูปของขิงผงสำเร็จรูป สามารถหาซื้อได้จากร้านจำหน่ายอาหารเสริมเพื่อสุขภาพที่น่าเชื่อถือได้ในท้องถิ่น การซื้อเครื่องดื่มขิงยอดนิยมในรูปของขิงผงสำเร็จรูปนี้ อย่าลืมตรวจสอบชื่อเสียงหรือการการันตีของบริษัทผู้ผลิต ตรวจสอบรายละเอียดส่วนผสมที่มีบนฉลาก การจดทะเบียนหรือขออนุญาตถูกต้องจาก อย. เพราะผลิตภัณฑ์ขิงผงสำเร็จรูปพร้อมชงดื่มที่มีคุณภาพนั้น ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ขิงผงสำเร็จรูปจากบริษัทผู้ผลิตที่มีมาตรฐานการผลิตระดับสากล มีการคัดสรรวัตถุดิบตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกขิง การค้นคว้าวิจัยที่ไม่หยุดนิ่ง ทั้งการพัฒนาสูตร รสชาติ ให้อร่อยถูกปากคนไทยและชาวต่างชาติ และเป็นผลิตภัณฑ์ขิงผงสำเร็จรูปที่ยังคงรักษาคุณค่าของจินเจอร์รอลไว้ในน้ำขิงทุกแก้วที่คุณเลือกซื้อไว้ชงดื่มที่บ้าน
 

2. ขมิ้น
ขมิ้น (Turmeric) พืชสมุนไพรที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ Curcuma longa L. จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE) เป็นพืชสมุนไพรล้มลุกที่มีรากหรือเหง้าอยู่ใต้ดิน เนื้อในของเหง้าจะเป็นสีเหลือง มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีตั้งแต่เนื้อในสีเหลืองเข้มจนถึงสีแสดจัด ขมิ้นเป็นพืชสมุนไพรที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีชื่ออื่น ๆ อีก เช่น ขมิ้นชัน ขมิ้นแกง ขมิ้นหยอก ขมิ้นหัว ขี้มิ้น หมิ้น ขึ้นอยู่กับท้องถิ่นแต่ละภาคและของจังหวัดนั้น ๆ โดยนิยมนำขมิ้นไปใช้ในการแต่งสี แต่งกลิ่นอาหาร เช่น แกงไตปลา แกงกะหรี่ และใช้เป็นส่วนผสมในแกงไก่ขมิ้น ปลาทอดขมิ้น โยเกิร์ตขมิ้น โดนัทขมิ้นชัน น้ำต้มขมิ้น เป็นต้น

เมื่อพืชสมุนไพรอย่างขมิ้นอยู่ในเมนูอาหาร นอกจากจะช่วยชูรสให้อาหารมีความอร่อยชวนรับประทานแล้ว ขมิ้นยังมีวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ หลายชนิด เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินซี วิตามินอี ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก และเกลือแร่ต่าง ๆ รวมไปถึงเส้นใย Fiber คาร์โบไฮเดรต และโปรตีน เป็นต้น โดยเฉพาะ วิตามินเอ วิตามินซี เหล็ก มีส่วนในการทำหน้าที่ตามปกติของระบบภูมิคุ้มกัน อีกทั้งขมิ้นยังเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยาที่มีส่วนช่วยรักษาและบรรเทาอาการของโรคต่าง ๆ ได้

คุณประโยชน์ของขมิ้นยังมีความโดดเด่นในด้านการลดอักเสบ มีงานวิจัยในหลอดทดลองพบว่าขมิ้นมีส่วนช่วยยับยั้งการหลั่งสารอักเสบ และปรับภูมิคุ้มกันไม่ให้มีการทำลายปอดให้เกิดความเสียหายจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza A virus) และมีการจำลองภาพสามมิติในคอมพิวเตอร์พบว่า สารสำคัญในขมิ้นสามารถแย่งจับกับตำแหน่งที่ไวรัสโควิด19 จะเข้าสู่เซลล์ปอดและตำแหน่งที่มีผลยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสได้

ระยะเวลาเก็บเกี่ยวขมิ้นที่คุณประโยชน์สูงสุด ไม่ควรเก็บเกี่ยวขมิ้นในระยะที่ขมิ้นเริ่มแตกหน่อ เพราะจะทำให้สารสำคัญต่าง ๆ ในขมิ้นมีน้อย ควรเก็บเกี่ยวขมิ้นที่มีอายุการปลูกอย่างน้อย 9-12 เดือน และต้องไม่เก็บขมิ้นไว้นานเกินไป และไม่ให้ขมิ้นถูกแสงแดด เพราะจะทำให้น้ำมันหอมระเหยในขมิ้นระเหยหมดไปเสียก่อนได้

การกินขมิ้น
มีการศึกษาเรื่องสมุนไพรขมิ้นพบว่า ควรกินขมิ้นตามเวลาที่อวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายกำลังทำงาน จะมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของขมิ้นได้มากขึ้น โดยการกินขมิ้นนั้นควรกินตามเวลาต่อไปนี้
  • ช่วงเวลา 03.00 - 05.00 น. เป็นช่วงเวลาของการดูแลปอด หากกินขมิ้นในช่วงเวลานี้ จะมีส่วนช่วยในการบำรุงปอด มีส่วนช่วยทำให้ปอดแข็งแรง มีส่วนช่วยป้องกันการเป็นมะเร็งปากมดลูก มีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ผิวหนัง และมีส่วนช่วยในเรื่องของภูมิแพ้ หายใจไม่สะดวกอีกด้วย
  • ช่วงเวลา 05.00 - 07.00 น. เป็นช่วงเวลาของลำไส้ใหญ่ หากกินขมิ้นในช่วงเวลานี้ จะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาของลำไส้ใหญ่ สำหรับผู้ที่ขับถ่ายไม่เป็นเวลา มีระบบขับถ่ายไม่ปกติหรือกินยาถ่ายมานาน สารสำคัญในพืชสมุนไพรขมิ้น มีส่วนช่วยฟื้นฟูปลายประสาทของลำไส้ใหญ่ให้บีบรัดตัว เพื่อช่วยให้เกิดการขับถ่ายได้เป็นปกติ และขมิ้นยังมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาของลำไส้ใหญ่ที่มีการขับถ่ายน้อยหรือมากจนเกินไป และมีส่วนช่วยป้องกันการเกิดโรคริดสีดวงทวารและโรคมะเร็งลำไส้ได้อีกด้วย หากกินสมุนไพรขมิ้นพร้อมกับโยเกิร์ต นมสด น้ำผึ้ง มะนาว หรือน้ำอุ่น จะมีส่วนช่วยในการทำความสะอาดผนังลำไส้ได้อย่างน่าอัศจรรย์
  • ช่วงเวลา 07.00 - 09.00 น. เป็นช่วงเวลาของกระเพาะอาหาร การกินสมุนไพรขมิ้นในช่วงเวลานี้จะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาเรื่องกระเพาะอาหารที่เกิดจากการกินอาหารไม่เป็นเวลา และยังมีส่วนช่วยลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด แน่นท้อง และยังมีส่วนช่วยบรรเทาอาการปวดเข่า ขาตึง บำรุงสมอง ป้องกันโรคความจำเสื่อมได้อีกด้วย
  • ช่วงเวลา 09.00 - 11.00 น. เป็นช่วงเวลาของม้าม การกินสมุนไพรขมิ้นในช่วงเวลานี้ มีส่วนช่วยแก้ปัญหาในเรื่องของน้ำเหลืองเสีย มีแผลบริเวณปาก มีส่วนช่วยบรรเทาอาการของโรคเบาหวาน โรคเกาต์ มีน้ำหนักตัวเกินพอดีหรืออ้วนเกินไปหรือผอมเกินไป
  • ช่วงเวลา 11.00 - 13.00 น. เป็นช่วงเวลาของหัวใจ การกินสมุนไพรขมิ้นในช่วงเวลานี้ มีส่วนทำให้เกิดการดูแลบำรุงหัวใจให้มีสุขภาพแข็งแรง
  • ช่วงเวลา 15.00 - 17.00 น. เป็นช่วงเวลาของกระเพาะปัสสาวะ การกินสมุนไพรขมิ้นในช่วงเวลานี้ มีส่วนช่วยบำรุงหูรูดกระเพาะปัสสาวะให้แข็งแรง แก้อาการตกขาว และเนื่องจากขมิ้นมีรสเผ็ดร้อน การทำให้เหงื่อออกในช่วงเวลานี้มีส่วนช่วยทำให้ร่างกายขับสารพิษออกไปจากร่างกายได้มาก
  • ช่วงเวลา 17.00 น. - จนถึงเข้านอน การกินสมุนไพรขมิ้นในช่วงเวลานี้ มีส่วนช่วยทำให้ความจำดีขึ้น เมื่อตื่นนอนจะสดชื่นไม่อ่อนเพลีย มีระบบการขับถ่ายที่ดีเป็นปกติอีกด้วย
 

3. ข่า
ข่า รากข่า Alpinia officinarum รากของพืชหลายชนิดในวงศ์ Zingiberaceae เป็นเครื่องเทศพื้นเมืองของทวีปเอเชียใต้ มีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับขิงและขมิ้น และถูกนำมาใช้ในการแพทย์อายุรเวทและแพทย์แผนจีนมานานหลายศตวรรษ เช่นเดียวกับขิงและขมิ้น 

และข่าก็เป็นพืชสมุนไพรคู่บ้านคู่วิถีชีวิตคนไทยมาช้านานแล้วเช่นกัน ข่าเป็นทั้งเครื่องเทศและสมุนไพร สามารถรับประทานสดได้ มีกลิ่นหอม ฉุน รสเผ็ดร้อน แต่เป็นที่นิยมในอาหารจีน ชาวอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ข่ายังเป็นพืชสมุนไพรที่มีส่วนช่วยบรรเทาอาการในผู้ป่วยบางราย เนื่องจากเชื่อกันว่า ข่าเป็นสมุนไพรไทยที่มีส่วนช่วยรักษาโรคติดเชื้อ ลดการอักเสบ เสริมสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย และมีส่วนช่วยในการต่อสู้กับโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ ได้ [8]

ข่า กับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
ข่าที่พบอยู่ในประเทศไทยมี 6 พันธุ์ คือ ข่าลิง ข่าเหลือง ข่าหลวง ข่าแกง ข่าด่าง ข่าคน จากการศึกษาในหลอดทดลอง พบว่าเหง้าข่ามีน้ำมันหอมระเหยที่สารสำคัญหลายชนิด เช่น eugenol, cineol, camphor, methyl cinnamate, pinene, galangin, chavicol, trans-p-coumaryl diacetate, coniferyl diacetate, p-hydroxy-trans-cinnamaldehyde, kaemferol, quercetin น้ำมันหอมระเหยในข่าที่มีฤทธิ์ต้านการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด เช่น แบคทีเรียที่ทำให้ท้องเสีย วัณโรค ฝีหนอง และมีฤทธิ์ต้านเชื้อราจำพวกกลากและยีสต์ นอกจากนี้ น้ำมันหอมระเหยในข่ายังมีฤทธิ์ฆ่าแมลง และมีฤทธิ์ต้านเนื้องอกในหนู สารสกัดแอลกอฮอล์จากเหง้าข่า มีฤทธิ์ขับพยาธิ ลดความดันโลหิต ลดไข้ และรักษาแผลที่กระเพาะอาหารและลดการหลั่งของกรด นอกจากนี้ยังต้านการอักเสบของตับ เพิ่มการเคลื่อนไหวของอสุจิ กระตุ้นการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบ การศึกษาความเป็นพิษในสัตว์ทดลองพบว่า ไม่มีพิษเฉียบพลัน แต่ในระยะยาวพบว่า ระดับเม็ดเลือดแดงลดลง และไม่เป็นพิษต่ออสุจิ [9]

รากของข่ายังถูกนำมาใช้ประกอบเป็นยาแผนโบราณเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ และมีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากขึ้น ที่สนับสนุนการใช้ข่าเป็นพืชสมุนไพรที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ โดยรากหรือเหง้าของข่าเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นสารประกอบที่มีส่วนช่วยต่อสู้กับโรคและปกป้องเซลล์จากการทำลายของอนุมูลอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สารโพลีฟีนอล ซึ่งเป็นกลุ่มของสารต้านอนุมูลอิสระหลักที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย เช่น เสริมภูมิคุ้มกัน ช่วยให้ความจำดีขึ้น ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและลดระดับคอเลสเตอรอล LDL (ไม่ดี) นอกจากนี้ สารโพลีฟีนอลในข่ายังมีส่วนช่วยป้องกันความเสื่อมทางจิตใจ ดีต่อผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้ป่วยโรคหัวใจอีกด้วย [8]
 

4. ฟ้าทะลายโจร
ฟ้าทะลายโจร ชื่อวิทยาศาสตร์ Andrographis paniculata (Burm.f.) Nees จัดอยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE) ซึ่งส่วนที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพรคือส่วนที่อยู่เหนือดิน (Aerial parts) ฟ้าทะลายโจรในระบบการแพทย์อายุรเวทแบบดั้งเดิมของอินเดีย ใบและยอดแห้งของฟ้าทะลายโจรใช้สำหรับรักษาโรคหลอดลมอักเสบ ไอ ท้องร่วง อาหารไม่ย่อย เป็นไข้ อักเสบ และโรคผิวหนัง ในการแพทย์แผนจีน พืชสมุนไพรชนิดนี้ใช้รักษาอาการในโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ อาการไอ โรคบิด ไข้ ไข้หวัดใหญ่ เจ็บคอ แผลในปาก หรือบนลิ้น อาการไอเฉียบพลันหรือเรื้อรัง ลำไส้อักเสบ โรคบิด ติดเชื้อ ในทางเดินปัสสาวะ และอาการปวดเวลาปัสสาวะ การศึกษาสมัยใหม่ได้มุ่งเน้นไปที่ประโยชน์ที่เป็นไปได้ของยาแคปซูลสมุนไพร ฟ้าทะลายโจรสำหรับสภาวะทางเดินหายใจและการย่อยอาหาร [2]

จากการส่งเสริมและพัฒนายาจากสมุนไพรไทยอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถสร้างความมั่นคงทางยา โดยมีรายการยาที่ใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพ มีหลักฐานที่สนับสนุนการใช้ตามสรรพคุณ (Health Benefits) หรือบ่งใช้ (Clinical Indication) มีประสบการณ์การใช้ในประเทศไทยอย่างเพียงพอ และในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พ.ศ. 2564 ยาสารสกัดฟ้าทะลายโจร และยาผงฟ้าทะลายโจร ที่มีสารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ถูกเพิ่มในบัญชียาหลักแห่งชาติ ใช้รักษาผู้ป่วยโควิดที่มีอาการน้อยได้ [5] [6] [7]

แอนโดรกราโฟไลด์ คืออะไร?
จากการศึกษาและวิจัยพบว่า สารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ในพืชสมุนไพร ฟ้าทะลายโจร มีส่วนช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสได้ในทุกระยะ และช่วยยับยั้งการอักเสบ และยังมีสารประกอบ Lactone 4 ชนิด ที่มีฤทธิ์เย็นหนืดช่วยจับโปรตีนของไวรัสให้อยู่กับที่ ทำให้ฤทธิ์ของสมุนไพรไทย ฟ้าทะลายโจรต้านไวรัสได้ดียิ่งขึ้น ช่วยป้องกันผลข้างเคียงจากยาปฏิชีวนะได้ และยังเป็นสมุนไพร ไอแก้ ช่วยบรรเทาอาการของโรคหวัด เช่น อาการไอ เจ็บคอ มีไข้ [5]

ก่อนที่สมุนไพรไทย ฟ้าทะลายโจรจะถูกเพิ่มในบัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโควิดที่มีอาการน้อยได้นั้น เมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคม 2563 รัฐบาลไทยอนุมัติการศึกษานำร่องการใช้พืชสมุนไพร ฟ้าทะลายโจรเพื่อรักษาอาการในระยะแรกและลดความรุนแรงของโรคโควิด-19 โดยในเบื้องต้นจัดให้บริการรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐ 5 แห่งในประเทศไทยตามความสมัครใจ สำหรับผู้ที่มีอายุ 18-60 ปี ที่มีอาการเล็กน้อย มีรายงานว่าจะให้ผู้ป่วยรับยาฟ้าทะลายโจรภายใน 72 ชั่วโมง หลังจากเริ่มมีอาการ การอนุมัตินี้มีขึ้นท่ามกลางการติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นในประเทศ ณ วันที่ 28 มกราคม 2564 ประเทศไทยมีผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 16,221 ราย ในประชากรทั้งหมดประมาณ 70 ล้านคน [2]

[โดยก่อนหน้านี้ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2563 เดอะ เนชั่น ประเทศไทย รายงานว่าโครงการวิจัยของไทยเกี่ยวกับยาแคปซูลสมุนไพร ฟ้าทะลายโจรสำหรับโควิด-19 ระยะที่ 1 ได้เริ่มขึ้นที่โรงพยาบาล 2 แห่งในประเทศไทย ในการทดลองเบื้องต้นนี้ ผู้ป่วยจะได้รับยาแคปซูลสมุนไพรสกัด ฟ้าทะลายโจร หากได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อ COVID-19 และมีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง รวมถึงมีไข้และไอ ซึ่งกินเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง [2] และช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2563 เดอะ เนชั่น ประเทศไทย รายงานว่า การให้ยาฟ้าทะลายโจรในปริมาณที่ต่ำกว่า มีประโยชน์ในการทดลองเบื้องต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบรรเทาอาการไอ ภายใน 3 วัน ปริมาณไอและความรุนแรงของอาการโดยรวมลดลงอย่างเห็นได้ชัด หลังจากนั้น 5 วัน อาการอื่น ๆ ก็ดีขึ้น และการทดสอบปฏิกิริยาลูกโซ่โพลิเมอเรสตามเวลาจริง (PCR) ให้ผลลบสำหรับไวรัส COVID-19 ในผู้ป่วย 2 ราย หลังจากผ่านไป 3 สัปดาห์ การทดสอบ PCR แบบเรียลไทม์ให้ผลลบในอาสาสมัครทั้ง 6 คน แต่จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลลัพธ์ให้แน่ชัด ระยะที่ 2 ช่วงเดือนกันยายน 2563 มีรายงานว่า ให้อาสาสมัคร 60 คน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ได้รับยาแคปซูลฟ้าทะลายโจร และกลุ่มที่ 2 ได้รับยาหลอก รายละเอียดเกี่ยวกับผลลัพธ์ยังไม่ชัดเจน]

ซึ่งการอนุมัติการศึกษานำร่องจากรัฐบาลไทยในการใช้พืชสมุนไพร ฟ้าทะลายโจรเป็นทางเลือกในการรักษาโควิด-19 นี้ เป็นทางเลือกที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า และสามารถลดการอักเสบได้

ฟ้าทะลายโจร ช่วยต้านโควิดได้
อ้างอิง ประเด็นคำถามการใช้ยาฟ้าทะลายโจรในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณะสุข ได้รวบรวมไว้ [6] ซึ่งมีประเด็นคำถามมากมาย เราขออนุญาตนำตัวอย่างคำถามที่ให้เหตุผลว่าสมุนไพรไทย ฟ้าทะลายโจร ช่วยต้านโควิดได้
  • Q การใช้สารสกัดฟ้าทะลายโจรที่มีสารแอนโดรกราโฟไลด์ ขนาด 180 มิลลิกรัมต่อวัน ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 มีการอ้างอิงผลวิจัยอะไรหรือไม่ หรืออ้างอิงจากข้อมูลใด?
  • A มีการศึกษานำร่องเพื่อกำหนดขนาดสำหรับการใช้ยาสมุนไพร ฟ้าทะลายโจร ซึ่งท้ายสุดไม่ได้ชี้ว่าต้องใช้ฟ้าทะลายโจรรูปแบบไหน แบบบดผง หรือ แบบสารสกัด แต่เป็นการกำหนดที่สารสำคัญ แอนโดรกราโฟไลด์ ที่มีฤทธิ์ครอบคลุมและหวังผลในการรักษา ทั้งการต้านอักเสบ การกระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะฤทธิ์ต้านไวรัส SARS-CoV-2 โดยใช้การคำนวณในการศึกษาทางพรีคลินิก และเป็นขนาดที่ไม่เกิดผลเสียต่อร่างกาย ทำให้ราชกิจจานุเบกษา เพิ่มยาสารสกัดฟ้าทะลายโจร และยาผงฟ้าทะลายโจร ที่มีสารแอนโดรกราโฟไลด์ [27] (Andrographolide) ไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2564 เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโควิดที่มีอาการน้อยได้ โดยมีเงื่อนไขว่า ยาสารสกัดจากฟ้าทะลายโจร และ ยาจากผงฟ้าทะลายโจร ในรูปแบบยา ยาแคปซูล (Capsule) ยาเม็ด (Tablet)
 
  1. ใช้กับผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่มีความรุนแรงน้อย เพื่อลดการเกิดโรคที่รุนแรง
  2. เฉพาะผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่มีการควบคุมปริมาณ andrographolide
  3. รับประทานในขนาดยาที่มีปริมาณ andrographolide 180 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแบ่งให้วันละ 3 ครั้ง
  4. ใช้ได้โดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
  5. มีการติดตามประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยหลังการใช้อย่างเป็นระบบ
 

5. พริกขี้หนู
พริกขี้หนู สมุนไพรไทยที่ได้รับการเปรียบเทียบว่าเก่ง ตัวเล็กพริกขี้หนู หรือมีฤทธิ์เจ็บแสบ มีความเผ็ดร้อนมากมาย เป็นได้ทั้งเครื่องเทศและสมุนไพรที่จัดว่ามีรสเผ็ดมาก แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ พริกขี้หนูผลใหญ่ และ พริกขี้หนูผลเล็ก ได้แก่พริกขี้หนูสวน พริกขี้หนูหอม พริกขี้นกและพริกกระเหรี่ยง

พริกขี้หนู สมุนไพรไทยมีคุณค่าทางโภชนาการมากมาย คนไทยนิยมนำพริกขี้หนูมาใช้ปรุงหรือประกอบอาหาร ช่วยชูรสให้เข้มข้น และเผ็ดร้อนยิ่งขึ้น มีส่วนช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร และกระตุ้นการหลั่งน้ำลายในปาก ทำให้อาหาร ช่วยให้เจริญอาหาร ระบบย่อยอาหารดีขึ้น ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยลดระดับไขมันในเลือด เพราะพริกขี้หนูเป็นแหล่งรวมของวิตามินเอ วิตามินบี และวิตามินซี โดยเฉพาะวิตามินซีจะพบในปริมาณที่สูงกว่าปริมาณวิตามินซีในผลส้ม ซึ่งวิตามินเหล่านี้มีส่วนช่วยในการทำหน้าที่ตามปกติของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย [13]
 

6. พริกไทยดำ
หากพริกป่นเผ็ดเกินไปสำหรับคุณ ขอแนะนำพริกไทยทางเลือกของผู้ที่ชื่นชอบการกินอาหารรสแซ่บแต่ไม่จัดจ้านอย่างพริกไทยที่ทั่วโลกให้ความนิยมเป็นอย่างมาก จนได้รับขนานนามว่าเป็น ราชาแห่งเครื่องเทศ พริกไทยเป็นพืชสมุนไพรที่เป็นได้ทั้งเครื่องเทศและสมุนไพร ที่มีสรรพคุณทางยามากมาย

จริง ๆ แล้ว พริกไทยเป็นผล พวงอ่อนสีเขียว มีรสชาติเผ็ดร้อน นิยมนำไปประกอบอาหาร ใส่ในแกงป่า ผัดเผ็ดและปรุงรสในอาหารอื่น ๆ อีกหลายประเภท พริกไทยเมื่อผลแก่ จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและสีแดงเมื่อสุกจัด เมล็ดตากแห้งจะเป็นสีดำ หากนำเปลือกออกจะมีสีขาวเรียกว่า พริกไทยขาวหรือพริกไทยล่อน แต่ถ้าทำแห้งทั้งเปลือกจะได้พริกไทยดำ เนื่องจากเปลือกเมื่อทำให้แห้งจะมีสีดำ ส่วนพริกไทยขาวได้จากการลอกเปลือกออกก่อนนั่นเอง

พริกไทยเป็นสมุนไพรไทย มีน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากการนำพริกไทยดำมากลั่นด้วยไอน้ำ จะได้น้ำมันหอมระเหยร้อยละ 2 ถึง 4 และมีชันน้ำมัน (Oleoresin) ที่ได้จากการนำพริกไทยดำมาสกัดด้วยตัวทำลายที่ระเหยได้ แล้วนำสิ่งสกัดนั้นมาระเหยตัวทำลายออกให้หมด ส่วนที่เหลือคือชันน้ำมัน เป็นสารที่ทำให้พริกไทยมีรสเผ็ด

พริกไทยดำ เป็นสมุนไพรไทยที่มีน้ำมันหอมระเหยอยู่ร้อยละ 2-4 มีอัลคาลอยด์หลักคือ Piperidne, Piperettine และอัลคาลอยด์ที่พบในปริมาณน้อยอีก 3-4 ชนิด ได้แก่ Piperyline, Piperolein A, Piperolein B และ Piperanine, Piperine และ Piperanine เป็นอัลคาลอยด์ที่ทำให้เกิดกลิ่นฉุนและรสเผ็ด

กองโภชนาการ กรมอนามัย วิเคราะห์คุณค่าสารอาหารว่า พริกไทย 100 กรัม ให้พลังงาน 94 กิโลแคลอรี โปรตีน 4.4 กรัม คาร์โบไฮเดรต 13.2 กรัม แคลเซียมสูงถึง 1543 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 23 มิลลิกรัม เบต้า-แคโรทีน 28.82 ไมโครกรัม เทียบหน่วยเรตินัล [11]

สรรพคุณทางยาของสมุนไพรไทย พริกไทยดำ
นิยมใช้พริกไทยดำมากกว่าพริกไทยขาว โดยพริกไทยดำช่วยขับเหงื่อ ขับลม ขับปัสสาวะ กระตุ้นปุ่มรับรสที่ลิ้น ส่งผลให้กระเพาะอาหารหลั่งน้ำย่อยเพิ่ม ช่วยย่อยสลายไขมัน ช่วยย่อยอาหาร ขับลมในลำไส้ บำรุงธาตุ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ปวดท้อง ขับเสมหะ เปิดคอให้โล่งขึ้น เพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ฯลฯ ที่สำคัญ พริกไทยดำยังเป็นสมุนไพรไทยที่มีส่วนช่วยในการต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกายและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันไปด้วยในตัว [14]
 

7. กะเพรา
กะเพรา เป็นสมุนไพรไทยที่มีกลิ่นหอมฉุนและรสเผ็ดร้อน มีอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ กะเพราขาวและกะเพราแดง ส่วนใหญ่แทบทุกครัวเรือนนิยมใช้กะเพราขาวในการประกอบอาหารเพื่อเสริมรสชาติและกลิ่น พร้อมอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการมากมาย ทั้งช่วยในการขับลม ลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรง ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดการอักเสบ ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียในช่องปากและแบคทีเรียที่ทำให้ท้องเสีย และนิยมในในส่วนของใบและยอด (ทั้งสดและแห้ง) ของกะเพราแดงมาทำเป็นยาสมุนไพร [13]
 

8. กระชาย
กระชายเป็นสมุนไพรไทยที่มีการนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในเมนูอาหารไทยและถูกนำมาเป็นยาสมุนไพรมานาน โดยภูมิปัญญาพื้นบ้านของไทยเรานำกระชายมาใช้เป็นยาสมุนไพรแก้โรคที่เกิดในปาก เช่น ปากเป็นแผล ปากเปื่อย รักษาบรรเทาอาการจมูกไม่ได้กลิ่น ไซนัสอักเสบ ช่วยย่อยอาหาร เพิ่มสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย เป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยบำรุงกำลัง แก้ปวดเมื่อย แก้อาการวิงเวียน [15]

ในการศึกษาทางเภสัชวิทยา พบว่าสมุนไพรกระชายมีฤทธิ์สำคัญในการยับยั้งเซลล์มะเร็ง และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และเมื่อไม่นานมานี้มีผลการศึกษากระชายในหลอดทดลอง ซึ่งค้นพบสารบางอย่างที่มีอยู่ในสมุนไพรกระชาย ได้แก่ สารแพนดูราทินเอ (Pandulatin A) และสารพิโนสโตรบิน (Pinostrobin) สามารถมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) โดยสารสำคัญทั้ง 2 ชนิดนี้อยู่ในกระชายขาว โดยสารสำคัญในกระชายขาวนี้มีฤทธิ์ในการยับยั้งถึง 2 รูปแบบ คือ
  1. สามารถที่จะลดจำนวนเซลล์ที่ติดเชื้อได้
  2. ยับยั้งการผลิตตัวไวรัสออกจากเซลล์ คือเซลล์นั้นไม่สามารถที่จะผลิตตัวไวรัสตัวใหม่ออกมาจากตัวเซลล์ได้เลย
ทั้งนี้การค้นพบดังกล่าว เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของศึกษาวิจัยเพื่อต่อยอดไปสู่การศึกษาวิจัยในด้านการออกฤทธิ์ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยในการใช้กับมนุษย์ต่อไป [16] [17]
 

9. โหระพา
โหระพาเป็นสมุนไพรไทยที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ Ocimum basilicum Linn. วงศ์ Labiatae ชื่อภาษาอังกฤษ Sweet Basil โหระพาเป็นพืชสมุนไพรที่ยังมีชื่ออื่น ๆ ก็คือ อิ่มคิมขาว (ฉาน-แม่ฮ่อง-สอน) กอมก้อ (เหนือ อีสาน) นางพญาร้อยชู้ โหระพาเทศ โหระพาไทย ห่อกวยซวย ห่อวอซู

โหระพาเป็นสมุนไพรไทยตระกูลเดียวกันกับกะเพรา แต่กลิ่นรสต่างกัน และรู้ไหมว่าชื่อโหระพาภาษาอังกฤษคำว่า Basil มาจากภาษากรีก basileus แปลว่า ราชา หรือ ผู้นำของปวงชน เนื่องมาจากโหระพามีกลิ่นหอมเหมือนกับเครื่องหอมในราชสำนัก

ในอาหารไทยนิยมนำพืชสมุนไพรอย่างโหระพามาเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารหลายชนิด เพราะโหระพาช่วยปรุงแต่งกลิ่นรสของแต่ละเมนูอาหารให้น่ากินและอร่อยยิ่งขึ้น อีกทั้งโหระพายังมีส่วนช่วยดับกลิ่นคาวของอาหารได้หลายชนิด เช่น ผัดหอย ผัดเนื้อ ใช้ใบปรุงอาหารเป็นผักโรยชูรสได้หลายชนิด เช่น แกงเผ็ด แกงเลียง ผัด ทอด ใบและยอดอ่อนใช้กินเป็นผักสดได้และเป็นเครื่องแนมอาหารคาวหรืออาหารว่างได้เป็นอย่างดี

โหระพาเป็นสมุนไพรไทยที่มีองค์ประกอบทางเคมีมากมาย อาทิ สารสกัดใบโหระพาที่ได้จากการกลั่นด้วยไอน้ำ มีสีเหลืองอ่อนถึงไม่มีสี ใบโหระพามีน้ำมันหอมระเหยอยู่ประมาณร้อยละ 0.1-1.5 เมื่อทำการวิเคราะห์ด้วยวิธีสุ่มตัวอย่างจาก headspace และตรวจสอบด้วย gas chromatography พบว่าในน้ำมันหอมระเหยประกอบด้วยสารเมทิลชาวิคอล (methylchavicol) เป็นสารหลัก (ร้อยละ 93) และสารกลุ่มเทอร์พีน ได้แก่ลินาโลออล (linalool) และซินีออล (1, 8-cineol) นอกจากนี้ ยังมีสารยูจีนอล (eugenol) กรดกาเฟอิก (caffeic acid) และกรดโรสมารินิก (rosmarinic acid) เป็นต้น

องค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญของใบโหระพาพันธุ์ไทยคือ เมทิลชาวิคอล ที่สกัดได้จากการกลั่นด้วยไอน้ำ มีลักษณะเป็นของเหลวใสสีเหลืองอ่อน หรือเหลืองอมน้ำตาล ปราศจากตะกอนและสารแขวนลอย ไม่มีการแยกชั้นของน้ำ มีกลิ่นเฉพาะตัว มีคุณสมบัติแก้จุกเสียดแน่นท้อง ใบโหระพายังมีสารเบต้าแคโรทีนสูง ที่สามารถช่วยป้องกัน โรคหัวใจขาดเลือดและมะเร็งได้ (โหระพา 1 ขีด มีเบต้าแคโรทีนถึง 452.16 ไมโครกรัม) ในโหระพายังมี คาร์โบไฮเดรต เส้นใยอาหารไฟเบอร์ แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินซี  น้ำมันหอมระเหยต่าง ๆ เช่น โอซิมีน (Ocimine) ไพนีน (Pinene) ยูคาลิปตอล (Eucalyptol) เมล็ดมีเมือกหุ้มคล้ายเมล็ดแมงลัก

โหระพาเป็นสมุนไพรไทยที่มีส่วนช่วยแก้ปวดลดไข้ บรรเทาอาการปวดศีรษะ ขับเหงื่อ ขับลม ขับเสมหะ ขับพยาธิ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ท้องเสีย ช่วยเจริญอาหาร แก้หวัด แก้ไอ และสร้างภูมิคุ้มกัน [19]
 

10. หอมแดง
หอมแดง สมุนไพรไทยที่สามารถทำความเข้าใจได้แบบง่าย ๆ ก็คือ หอมแดงมี 3 ชนิด คือ 1. หอมแดงที่ใช้ในครัวเรือนทั่วไป 2. หอมแขก หรือหอมพม่า หน้าตาคล้ายหอมแดง แต่มีขนาดของหัวที่ใหญ่กว่า 3. หอมแดงที่หมอแผนโบราณใช้กัน ซึ่งปัจจุบันอาจมีเรียกว่า ว่านหอมแดง 

สองชนิดแรกเป็นพืชสกุลเดียวกันคือสกุล Allium ส่วนชนิดที่สามนี้ ไม่เคยมีรายงานวิจัยที่บอกว่า สารสำคัญในหัวหอมหรือแม้กระทั่งน้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ในการป้องกันไวรัส และไม่มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อโควิด แต่สรรพคุณของพืชสมุนไพรหอมแดงมีประโยชน์มากมาย จึงมีการนำมาเชื่อมโยงกับผู้ป่วยโควิด-19 ได้

เนื่องจากสมัยก่อน ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านมีการนำหอมแดงมาใช้ในการรักษาไข้หวัด เพราะในหอมแดงมีสารเคอร์ซิติน ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยบรรเทาอาการหวัดคัดจมูก และมีน้ำมันหอมระเหยที่มีส่วนช่วยรักษาอาการอักเสบที่บริเวณผิวหนังด้านในตรงเยื่อเมือกในโพรงจมูก พออาการอักเสบลดลง น้ำมูกก็ไหลได้ดีขึ้น อาการหวัดก็จะบรรเทา และยังมีงานวิจัยว่า หอมแดงมีส่วนช่วยในการต้านเชื้อแบคทีเรีย การต้านเชื้อไวรัสบางชนิดได้ [22] [23] [24]
 

11. กระเทียม
กระเทียม พืชสมุนไพรไทยที่อยู่กับครัวของคนไทยมานาน หลายคนคงนึกถึงสมุนไพรคู่ครัว แขวนตามเสาตามมุมในครัวที่มีกลิ่นฉุนและมีรสชาติเผ็ดร้อนเป็นเอกลักษณ์ แต่รู้ไหมว่า ภายใต้ความฉุน และรสเผ็ดร้อนที่ว่านี้กลับซ่อนประโยชน์ไว้อีกมากมาย

กระเทียม (garlic) ใช้ประโยชน์จากส่วนหัวกระเทียมเป็นหลักในการดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ แต่งกลิ่น และเพิ่มรสชาติให้กับอาหารประเภทผัดชนิดต่าง ๆ ได้อย่างดี ใบและหัวกระเทียมสดยังสามารถกินเป็นผักเคียงได้

กระเทียมมีสารสำคัญที่เป็นสารออกฤทธิ์ จัดอยู่ในกลุ่มสารประกอบกำมะถัน (Organosulfur) เช่น อัลลิซาติน (Allisatin), อะโจอีน (Ajoene), ไดแอลลิล ซัลไฟด์ (Diallyl Sulfide), อัลเคนีล ไตรซัลไฟด์ (Alkenyl trisulfide), สารกลุ่มฟลาวานอยด์ เช่น เควอซิทิน (Quercetin), ไอโซเควอซิทิน (Isoquercitrin), เรย์นูทริน (Reynoutrin), แอสตรากาลิน (Astragalin), อีกทั้งในกระเทียมดิบปริมาณ 100 กรัม มีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้ คาร์โบไฮเดรต 33.06 กรัม, เส้นใยอาหาร 2.1 กรัม, แคลเซียม 181 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 153 มิลลิกรัม, แมกนีเซียม 25 มิลลิกรัม, โพแทสเซียม 401 มิลลิกรัม, ซิลีเนียม 14.2 ไมโครกรัม, วิตามินบี5 0.596 มิลลิกรัม, วิตามินบี6 1.235 มิลลิกรัม, วิตามินบี 9 3 ไมโครกรัม, และวิตามินซี 31.2 มิลลิกรัม

อีกทั้งกระเทียมที่อุดมไปด้วยสารสำคัญต่าง ๆ เหล่านี้ ผ่านการทำวิจัยแบบจำลองในคอมพิวเตอร์แล้วพบว่า กระเทียมสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ แต่งานวิจัยนี้ยังเป็นงานวิจัยจำลองเฉพาะในคอมพิวเตอร์เท่านั้น ยังไม่ได้นำมาทำการวิจัยในหลอดทดลองหรือในตัวคนจริง ๆ จึงยังไม่สามารถการันตีได้ว่า กระเทียมช่วยต้านโควิด-19 ได้จริง แต่สารสำคัญในพืชสมุนไพรกระเทียมนั้นมีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรง ช่วยบรรเทาอาการไข้หวัด ช่วยบรรเทาอาการโรคไอกรน ในทางแพทย์แผนไทยนำกระเทียมไปเป็นส่วนผสมในตำรับยาสมุนไพรสำหรับช่วยในการขับเสมหะ มีฤทธิ์ขับเหงื่อและขับปัสสาวะ รวมถึงในตำรับยาที่ช่วยในการบำรุงไฟธาตุ กระตุ้นการเผาผลาญ ช่วยลดน้ำหนัก อีกด้วย [22] [24] [25]
 

12. มะขามป้อม
มะขามป้อมเป็นสมุนไพรไทยที่มีวิตามินซีสูง เพราะเมื่อพูดถึงอาหารที่มีส่วนช่วยในการสร้างภูมิคุ้มกันนั้น สิ่งแรกที่นึกถึงกันก็คือสารอาหารที่ชื่อว่า วิตามินซี ซึ่งจริง ๆ แล้วในมุมของทางด้านโภชนาการ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะหน้าที่ป้องกันเชื้อโรค สารพิษ สิ่งแปลกปลอมที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ก็คือการมีโภชนาการที่ดี และการกินอาหารที่มีวิตามินซีสูงอย่างมะขามป้อม รวมไปถึงผลไม้รสเปรี้ยวอื่น ๆ เช่น มะนาว [20] [21]
 

13. มะนาว
มะนาว เป็นสมุนไพรไทยที่มีวิตามินซีสูง จึงเป็นพืชสมุนไพรที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรงและมีส่วนช่วยในกระบวนการทำลายเชื้อโรค โดยความต้องการวิตามินซีต่อวัน ตามข้อกำหนดปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ. 2563 ในเด็กอายุ 1-8 ปี ควรได้รับวิตามินซี 25-40 มิลลิกรัมต่อวัน ในเด็กและวัยรุ่นช่วงอายุ 9-18 ปี ควรได้รับวิตามินซี 60-100 มิลลิกรัมต่อวัน และในผู้ใหญ่ อายุตั้งแต่ 19 ปีขึ้นไป ควรได้รับวิตามินซี 85-100 มิลลิกรัมต่อวัน และการรับประทานวิตามินซีเพื่อให้ได้รับในปริมาณที่เพียงพอก็สามารถทำได้จริงในทางปฏิบัติอีกด้วย [20] [21]
 

14. มะกรูด 
มะกรูด เป็นอีกหนึ่งพืชสมุนไพรที่อยู่คู่ครัวไทยทุกภูมิภาค และขาดไม่ได้ในการนำมะกรูดมาใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องแกง โดยเฉพาะใบมะกรูดและผิวมะกรูด อีกทั้งมะกรูดยังถูกนำมาใช้ในด้านความงามและในด้านยาสมุนไพร เพราะมะกรูดมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรง [27]

มีผลการวิจัยที่พบว่า มะกรูด เป็นสมุนไพรไทยที่มีสารที่เบอร์กามอตติน (Bergamottin) ที่มีส่วนช่วยยับยั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ โดยในผลทดลองพบว่า มีส่วนช่วยลดความเสียหายในปอดของหนูทดลอง และยังมีการศึกษาก่อนหน้านี้ที่พบว่า เบอร์กามอตตินในสมุนไพรมะกรูด ถูกนำไปใช้รักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหารอีกด้วย

15. ตะไคร้
ตะไคร้ เป็นอีกหนึ่งในพืชสมุนไพรไทยยอดนิยมที่ถูกนำมาประกอบอาหาร ปรุงอาหารและเครื่องดื่ม ได้หลากหลายเมนู โดยตะไคร้แบ่งออกเป็น 6 ชนิด ได้แก่ ตะไคร้หอม ตะไคร้ต้น ตะไคร้กอ ตะไคร้น้ำ ตะไคร้หางนาค ตะไคร้หางสิงห์ และเป็นสมุนไพรไทยที่นิยมปลูกทั่วไปในประเทศไทย เพื่อนำมาทำเป็นได้ทั้งยารักษาโรคที่อุดมไปด้วยมีวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น วิตามินเอ ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก ฯลฯ [27] โดยเฉพาะวิตามินเอ และ ธาตุเหล็ก จะมีส่วนช่วยในการทำหน้าที่ตามปกติของระบบภูมิคุ้มกัน

จากที่กล่าวไปข้างต้น การกินสมุนไพรเพื่อดูแลสุขภาพ และรักษาโรคต่างๆ รวมถึงช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน ช่วยต้านโควิด-19 และ โรคร้ายอื่นๆอีกมากมาย แต่ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ย่อมมีทั้งด้านบวกและด้านลบ ควบคู่กันไปเสมอ แน่ใจแค่ไหน ว่าสมุนไพรปลอดภัย ในการใช้ร้อยเปอร์เซ็นต์ และสมุนไพร หากนำมาใช้เอง โดยขาดความรู้  ความเข้าใจ ใช้ไม่ถูกต้อง ไม่ถูกวิธี ก็ทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายได้เช่นกัน  ตัวอย่างเช่น ช่วงแพร่ระบาดโควิด-19 กระแสข่าวโซเชียลเกี่ยวกับ การป้องกันโรคไวรัสโควิด-19 ด้วยการรับประทานฟ้าทะลายโจร โดยข้อเท็จจริงนั้น ฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรที่ได้รับการศึกษาว่ามีฤทธิ์ในการรักษาไข้หวัดธรรมดา อาการไอ เจ็บคอ ในโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ และมีแค่เพียงการศึกษาฤทธิ์ในการต้านไวรัสกลุ่มไข้หวัด เฉพาะในหลอดทดลอง และสัตว์ทดลองเท่านั้น และไม่แนะนำให้นำมารับประทานเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน หรือ รับประทานติดต่อกันเกิน 5 วัน  เพราะ การรับประทานฟ้าทะลายโจร ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้แขนขามีอาการชาหรืออ่อนแรงได้ เพราะฉะนั้น หากจะเลือกสมุนไพร มารักษาอาการต่างๆ ด้วยตัวเอง ควรศึกษาให้ดีก่อน
 

กินสมุนไพร อย่างไร ให้ปลอดภัย
1. ถูกต้น สมุนไพรส่วนใหญ่มีชื่อคล้ายหรือซ้ำกัน ค่อนข้างเยอะ บางทีเป็นคำพ้องเสียง หรือชื่อเฉพาะตามท้องถิ่น เรียกต่างกัน แต่เป็นพืชชนิดเดียวกัน หรือบางครั้งชื่อเดียวกัน แต่เป็นพืชคนละชนิด ก็มี เพราะฉะนั้นจะนำสมุนไพรอะไรมาใช้ ก็ต้องใช้ให้ถูกต้นจริงๆ โดยจะต้องศึกษา ชื่อพฤกษศาสตร์ของพืชแต่ละชนิด เพื่อป้องกันการสับสน และตรวจสอบเอกลักษณ์พืชโดยเปรียบเทียบกับตัวอย่างพืชที่อยู่ในสวนพฤกษศาสตร์หรือในหนังสือพฤกษศาสตร์ที่เชื่อถือได้ก่อนนำมาใช้ ก็จะปลอดภัยมากขึ้น

2. ถูกส่วน ส่วนของพืชสมุนไพรแต่ละส่วน เช่น ราก ดอก ใบ เปลือก ผล หรือเมล็ด รวมถึง ความสุก แก่ อ่อน ดิบของสมุนไพร อาจมีองค์ประกอบทางเคมี หรือสารสำคัญที่เหมือนหรือแตกต่างกันได้ หรือในพืชบางชนิดส่วนต่างๆ ของพืชอาจมีสารสำคัญที่เหมือนกันแต่มีปริมาณแตกต่างกัน จึงทำให้ความแรงหรือประสิทธิภาพในการรักษาแตกต่างกันได้ หรือในพืชบางชนิดบางส่วนใช้เป็นยา บางส่วนมีพิษ ก็ต้องดูให้ดี

3. ถูกขนาด สมุนไพรส่วนมากจะไม่อันตราย แต่ปริมาณ และขนาดของการใช้ ธรรมชาติของสมุนไพร คือ หากใช้น้อยไป ก็จะรักษาไม่ได้ผล แต่ถ้าใช้มากไปก็อาจเกิดอันตรายต่อร่างกายได้ ฉะนั้นผู้ใช้ควรศึกษาถึงขนาดที่ต้องใช้ในการรักษาให้เหมาะสม เช่น ในเด็กเล็กที่มีความทนต่อยาน้อยกว่าผู้ใหญ่ ระยะเวลา และขนาดการใช้ ไม่ควรใช้ติดต่อ หรือ เกินกว่าที่แนะนำ และในผู้ใหญ่เองก็ต้องพึ่งระวัง เพราะการใช้สมุนไพรเป็นเวลานาน ควรต้องหยุดบ้าง เพื่อให้ร่างกายได้พัก และกำจัดยาออกจากร่างกาย หากจำเป็นหรือมีความประสงค์ที่จะใช้สมุนไพรเป็นเวลานาน ควรมีการตรวจร่างกายทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการใช้สมุนไพรเป็นระยะ ๆ ได้แก่ ตรวจการทำงานของตับ เช่น ตรวจการทำงานของไต เอนไซม์ตับ ความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด เป็นต้น

4. ถูกวิธี วิธีการใช้สมุนไพร เพื่อนำมาปรุงยาให้ถูกต้องถูกตามหลัก เช่น บางชนิดต้องใช้ต้นสด คั้นน้ำ ต้มเคี่ยว ต้มกับน้ำ หรือดองเหล้า เป็นต้น ในกรณีที่ต้องการปรับเปลี่ยนเป็นวิธีอื่นที่แตกต่างจากวิธีโบราณหรือดั้งเดิม จำเป็นต้องศึกษาถึงประสิทธิภาพ และความปลอดภัยก่อนจะใช้จริง เนื่องจากสารเคมีที่อยู่ในพืชแต่ละชนิดมีความหลากหลาย การเปลี่ยนวิธีเตรียมยาอาจทำให้สารที่ถูกสกัดออกมาแตกต่างกัน ซึ่งบางครั้งอาจเกิดอันตรายได้

5. ถูกโรค ก่อนจะนำสมุนไพรมารักษา ก็ต้องดูให้ดี ว่าสมุนไพรชนิดนี้ ใช้บรรเทาโรคนี้จริงหรือเปล่า เช่น ต้องการบรรเทาอาการท้องผูก ก็ต้องใช้สมุนไพรที่มีฤทธิ์ช่วยระบาย ถ้าไปใช้สมุนไพรที่มีรสฝาดจะทำให้ท้องยิ่งผูกมากขึ้นหรือถ้าหากจะใช้ร่วมกับการรักษาโรค หรือมุ่งหวังผลเพื่อการรักษาโดยตรง แนะนำให้ปรึกษาหรือ ขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญก่อน เช่น แพทย์แผนไทยประยุกต์ แพทย์แผนไทย หรือเภสัชกร เป็นต้น เพื่อความปลอดภัยและประโยชน์สูงสุด
 

รู้มั้ย? ทำไมถึงติดโควิดซ้ำ ๆ 
  • ภูมิคุ้มกันลดลง หรือเป็นช่วงที่ภูมิกันต่ำ ในช่วงที่ภูมิคุ้มกันลดลง จากการติดเชื้อโควิดรอบแรก ระบบการทำงานของภูมิคุ้มกันยังไม่ดีนัก ภูมิขึ้นไม่เยอะ หรือ ภูมิคุ้มกันต่ำ เช่นตอนป่วย ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ร่างกายอ่อนแอ หรือไม่ได้รับวัคซีน ได้รับวัคซีนไม่ครบ 
  • เกิดจากการติดเชื้อโควิด คนละสายพันธุ์ [28] เชื้อไวรัสคนละสายพันธุ์กัน อาจจะทำให้ภูมิคุ้มกันป้องกันได้ไม่ดีนัก เช่น ในการติดเชื้อครั้งที่ 1 เป็นสายพันธุ์ย่อย โอมิครอน "BA.2.86" ต่อมาติดสายพันธุ์ย่อยที่สอง คือ JN.1 หรือ (BA.2.86.1.1) ซึ่งกำลังระบาดหนักในตอนนี้ และสายพันธุนี้ ดื้อต่อภูมิคุ้มกัน มากกว่าสายพันธุ์อื่นๆหลายเท่าจึงมีโอกาสติดเชื้อครั้งที่ 2 ได้
  • ลดมาตรการป้องกันตัว และมีความเสี่ยง เช่น ไม่ได้สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ หรือ ละเว้นการใช้มาตรการ Social Prevention 
 

ลังจากหายโควิด ควรทำอย่างไร?
เมื่อรักษาอาการโควิด-19 หายแล้ว หลายๆท่านอาจจะไม่มีอาการใดๆ แต่บางท่านก็มีอาการลองโควิด Long Covid หลงเหลืออยู่ เช่น มีอาการไอ ปวดหัว เจ็บคอ หายใจถี่ หายใจไม่ทัน หอบเหนื่อย อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย  ใจสั่น รู้สึกแน่นหรืออึดอัดบริเวณหน้าอก เป็นต้น ทำให้เกิดผลกระทบต่อการ ฟื้นฟูสุขภาพ โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ บางท่านอาจจะได้รับผลกระทบทางจิตใจด้วย ดังนั้นหลังหายจากโควิดแล้ว ควรทำอย่างไร 
  • ตรวจเช็คสุขภาพหลังโควิด 
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • หมั่นสังเกตสัญญาณเตือนสุขภาพ
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่
  • ทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน
อย่างไรก็ตามโรคนี้คงไม่ได้หายไปง่ายๆ การปรับตัวให้เท่าทันสถานการณ์ปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นเรื่องสำคัญ ด้วยการดูแลตัวเองให้ภูมิคุ้มกันคงที่อยู่ตลอดเวลา เพื่อลดความเสี่ยงติดโควิดซ้ำๆ เลือกดื่ม น้ำขิง ฮอทต้า ทุกวัน เพราะในน้ำขิง มีสารจินเจอร์รอล ที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ให้คงที่ ยิ่งดื่มยิ่งดีต่อสุขภาพ


ที่มา:
[1] 37 สมุนไพรไทยช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน
[2] ไทยอนุมัติสมุนไพรไทยฟ้าทะลายโจรรักษาโควิด-19
[3] แพทย์แผนไทยแนะนำกินสมุนไพรไทยสร้างภูมิคุ้มกัน
[4] มัดรวม 5 สมุนไพรเสริมภูมิคุ้มกัน มีฤทธิ์ช่วยต้านไวรัส!
[5] แนวทางการใช้ยาฟ้าทะลายโจร / กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์
[6] กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก / ประเด็นคำถามการใช้ยาฟ้าทะลายโจรในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19
[7] ราชกิจจานุเบกษา ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร เพิ่มฟ้าทะลายโจรใช้กับผู้ป่วยโรคโควิด 19
[8] ข่า รากข่า: ประโยชน์, การใช้งาน, และผลข้างเคียง
[9] ข่า / Phargarden.com / ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
[10] ขมิ้น สรรพคุณและประโยชน์ของขมิ้นชัน / สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดสุรินทร์
[11] สมุนไพร ผักพื้นบ้าน เพื่อชีวิต & สุขภาพ โดย มนตรี แสนสุข สำนักพิมพ์อนิเมทกรุ๊ป Animate Print And Design Co.,Ltd.
[12] จินเจอร์รอล-ชื่อนี้สำคัญอย่างไรต่อร่างกาย
[13] เมนูอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับทุกวัยในช่วง COVID-19 สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณะสุข
[14] 4 ตัวช่วยเสริมสร้าง ‘ภูมิคุ้มกัน’ ร่างกาย ในอาหารที่ต้องกินอยู่ทุกวัน / กรุงเทพธุริกิจ
[15] น้ำกระชายเสริมภูมิคุ้มกัน เรื่องโดย โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร / บทความด้านสุขภาพจิต / กรมสุขภาพจิต / กระทรวงสาธารณสุข
[16] กระชายขาว กับเรื่องราวรักษาโรค
[17] เช็กให้ชัวร์ กระชายขาวช่วยต้าน COVID-19 ได้จริงหรือ?
[18] หมอชาวบ้าน / บทความสุขภาพน่ารู้ / โหระพา คุณค่าที่มากกว่าความอร่อย
[19] มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
[20] อาหารเสริมภูมิคุ้มกัน ในช่วงการแพร่ระบาด COVID-19
[21] สู้ไข้หวัด ด้วยอาหาร
[22] ชัวร์ก่อนแชร์: หอมแดงทุบสามารถนำมาใช้ป้องกันและรักษาโควิด 19 ได้ จริงหรือ?
[23] หอมแดง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
[24] หอมใหญ่ หอมแดง กระเทียม กับเมนูเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ต้านโควิด-19
[25] กระเทียม สารอาหาร สรรพคุณ ประโยชน์ และวิธีใช้เพื่อสุขภาพ
[26] วิจัยพบ “มะกรูด” ต้านโควิดได้ ช่วยลดความเสียหายในปอด | TNN ข่าวค่ำ | 6 ก.ค. 65
[27] พืชสมุนไพรสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน โควิด-19 ตำรับวัดคีรีวงก์
[28
เจาะ “โควิดพันธุ์ระบาดปี 2024” แพร่เร็ว ไม่ได้ลงแค่ปอด-ลามเกาะลำไส้!!
กลับ
23/02/2566
83,302
บทความอื่น ๆ ที่คุณอาจสนใจ